คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกค่าของคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการส่งมอบให้แก่จำเลยแล้วตามสัญญาซื้อขายแม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยแบ่งชำระเป็นงวด ๆ ก็เป็นเพียงผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นคราว ๆ เท่านั้น กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ซึ่งมีอายุความ2 ปี มิใช่เป็นกรณีเงินต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามมาตรา 193/33(2) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายโทรศัพท์เคลื่อนที่จากโจทก์จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ ราคา 37,200 บาท กำหนดผ่อนชำระงวดละ 1,550 บาทจำนวน 24 งวด ชำระทุกวันที่ 2 ของเดือน โดยเริ่มชำระตั้งแต่วันที่2 มีนาคม 2540 (ที่ถูกเริ่มชำระเดือนมกราคม 2540 และงวดถัดไปชำระภายในวันที่ 2 ของทุก ๆ เดือน) มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าแล้วจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าสินค้าให้เพียง 3 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าตั้งแต่งวดที่ 4 ถึงงวดที่ 24 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินค้าจำนวน 39,692.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 32,550 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องฟ้องภายในอายุความ2 ปี นับแต่มีสิทธิเรียกร้อง การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2544 ซึ่งพ้นกำหนดอายุความ 2 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าได้ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 121 พร้อมอุปกรณ์ ให้แก่จำเลยที่ 1 ราคา 37,200 บาทโดยให้จำเลยที่ 1 แบ่งชำระเป็น 24 งวด งวดละ 1,550 บาท เริ่มชำระงวดแรกเดือนมกราคม 2540 และงวดถัดไปชำระภายในวันที่ 2ของทุก ๆ เดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5 หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 3 งวดแล้วผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 4 ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2540 จนถึงงวดที่ 24 ตามรายการแสดงหนี้เอกสารหมาย จ.10 และตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2540 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ค้างชำระตามสัญญาซื้อขายจึงเป็นการที่โจทก์ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกค่าของคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วตามสัญญาซื้อขาย แม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 แบ่งชำระเป็นงวด ๆ ก็เป็นเพียงผ่อนชำระค่าสินค้าเป็นคราว ๆ เท่านั้น กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี หาใช่เป็นกรณีเงินต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามมาตรา 193/33(2) ซึ่งมีอายุความ5 ปี ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่โจทก์มีสิทธิร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share