คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466-5467/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การรับฟังสำเนาพยานเอกสารที่โจทก์อ้างซึ่งต้นฉบับอยู่ที่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ทำการตรวจสอบคงปฏิเสธว่าไม่ทราบว่ามีอยู่ที่จำเลยหรือไม่ จึงรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาเอกสารนั้น และถือเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นเมื่อจำเลยไม่ทำการตรวจสอบหรือทักท้วงว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลแรงงานกลางย่อมอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบและรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้โดยชอบ
การจ้างโจทก์เป็นการจ้างเพื่อให้ทำงานในกลุ่มบริษัท ก. ซึ่งมีบริษัทจำเลยทั้งสองรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ส่วนระยะเวลาใดโจทก์จะรับค่าจ้างจากจำเลยคนใด เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าจ้างแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์ทำงานในกลุ่มบริษัทก. และเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินที่โจทก์เรียกร้องจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลยทั้งสองได้ก็จะต้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยทั้งสองทราบดีถึงหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้าง จำนวนเงินแน่นอนที่ต้องจ่ายเป็นค่าจ้าง กำหนดระยะเวลาในการจ่ายค่าจ้าง บุคคลที่จะได้รับค่าจ้าง ทั้งจำเลยทั้งสองมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างนั้นได้แต่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้โดยไม่มีเหตุผลอันควร เมื่อเงินค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าค้างชำระนั้นเป็นเงินส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองต้องปรับเพิ่มให้เดือนละ 20,000 บาท ตามสัญญาจ้างแต่จำเลยทั้งสองยังโต้แย้งว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องจ่ายหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองยังไม่จ่ายให้จึงมีเหตุอ้าง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 314,838.71บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันผิดนัดในแต่ละงวดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,498,741.94 บาท

สำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 136,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างค้างจ่าย348,839.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 314,839.71 บาท นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 136,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเอกสารนั้น ศาลแรงงานกลางได้สอบโจทก์แล้วได้ความว่าเอกสารต่าง ๆ ที่ยื่นเข้าสู่สำนวนนั้นมีข้อมูลครบถ้วน ไม่มีข้อมูลอื่นที่จะต้องสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเอกสารส่วนที่เป็นสำเนามีต้นฉบับอยู่ที่จำเลยทั้งสองไม่อาจนำมาได้ และได้สอบทนายจำเลยทั้งสองแล้วยอมรับเอกสารทุกฉบับในส่วนที่เป็นต้นฉบับเท่านั้น ส่วนที่เป็นสำเนาไม่ขอรับเนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีอยู่ที่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เพราะทนายจำเลยทั้งสองไม่ได้เห็นต้นฉบับ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าเนื่องจากต้นฉบับอยู่ที่จำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ทำการตรวจสอบคงปฏิเสธว่าไม่ทราบว่ามีอยู่ที่จำเลยทั้งสองหรือไม่ จึงรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาเอกสารนั้น ดังนี้ การรับฟังสำเนาพยานเอกสารของศาลแรงงานกลางเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นกล่าวคือต้นฉบับอยู่ที่จำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองก็ไม่ทำการตรวจสอบหรือทักท้วงว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลแรงงานกลางย่อมอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบและรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้โดยชอบ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่านายจ้างมีสิทธิที่จะขยายระยะเวลาทดลองงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนนั้นเห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์พ้นระยะเวลาทดลองงานแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

จำเลยทั้งสองต่างอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 1 มิได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จึงมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ในขณะที่โจทก์ตกลงเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จล.1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2541 กลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล โดยจำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปในกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2541 โจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 แต่ยังรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 1 ครั้นเดือนพฤษภาคม 2542 จึงไปรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 2ในการจ้างโจทก์นายพูลสมบัติ ดำเนินชาญวนิชย์ เป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างในนามกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล และในการเลิกจ้างโจทก์ นายพูลสมบัติ ดำเนินชาญวนิชย์ ก็เป็นผู้ลงนามในหนังสือเลิกจ้างโดยอ้างถึงสัญญาจ้างดังกล่าว ดังนี้การจ้างโจทก์จึงเป็นการจ้างเพื่อให้ทำงานในกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผลซึ่งมีบริษัทจำเลยทั้งสองรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ส่วนระยะเวลาใดโจทก์จะรับค่าจ้างจากจำเลยคนใดนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าจ้างแก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์ทำงานในกลุ่มบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล และเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเงินที่โจทก์เรียกร้องจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันเริ่มจ้างจนถึงวันเลิกจ้าง และตามข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและพยานเอกสารต่าง ๆ แสดงว่าโจทก์ได้ทวงถามจากจำเลยทั้งสองหลายครั้ง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มตามกฎหมายให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลยทั้งสองหรือไม่จักต้องพิจารณาจากมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคแรกโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน” ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลยทั้งสองได้ก็จะต้องปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยทั้งสองทราบดีถึงหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้าง จำนวนเงินแน่นอนที่ต้องจ่ายเป็นค่าจ้าง กำหนดระยะเวลาในการจ่ายค่าจ้าง บุคคลที่จะได้รับค่าจ้าง ทั้งจำเลยทั้งสองมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างนั้นได้แต่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้โดยไม่มีเหตุผลอันควร คดีนี้ปรากฏตามพฤติการณ์แห่งคดีว่าเงินค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าค้างชำระนั้นเป็นเงินส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองต้องปรับเพิ่มให้เดือนละ 20,000 บาท ตามสัญญาจ้าง ซึ่งเงินส่วนนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน จำเลยที่ 1 จึงให้โอกาสแก่โจทก์ในการทำงานใหม่ที่เหมาะสมแทนการบอกเลิกจ้างด้วยการให้ไปช่วยงานจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน โจทก์ตกลงแล้วจึงได้โอนย้ายโจทก์ให้ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 100,000 บาท ค่าจ้างที่โจทก์อ้างว่าต้องปรับเพิ่มจึงยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องจ่ายหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองยังไม่จ่ายให้จึงมีเหตุอ้าง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share