คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้เงิน 150,194 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 139,716 บาท นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ 112,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชำระหนี้เต็มตามฟ้อง ดังนี้ คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เท่ากับจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้อง 150,194 บาท หักด้วยจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระ 112,000 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องอีก 8,400 บาท แล้ว คือ 29,794 บาท เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาทตามตาราง 1 ข้อ 2(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์เป็นเงิน139,716 บาท โดยจำเลยจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน3 เดือนนับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ และจำเลยได้ออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าแพ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 139,716 บาท เป็นการชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน150,194 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 139,716บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คค้ำประกันหนี้เงินกู้ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยและบังคับขู่เข็ญให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ หากไม่ทำโจทก์จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยต่อไป หนังสือรับสภาพหนี้เป็นโมฆะ จำนวนเงินไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 112,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีมีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เท่าใดและต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเงิน 139,716 บาท จำเลยให้การว่าเป็นหนี้อยู่จริงเพียง 112,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทคือจำนวนเงิน 139,716 บาทหรือ 112,000 บาทไม่ใช่ 27,716 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเงิน 139,716 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 112,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจำเลยมิได้อุทธรณ์ถือว่าจำเลยพอใจตามคำพิพากษา แต่โจทก์ไม่พอใจและอุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระหนี้เต็มตามจำนวนที่ฟ้อง ดังนี้ คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เท่ากับจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้อง 150,194 บาท หักด้วยจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระ 112,000 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ถึงวันฟ้องอีก 8,400 บาท แล้ว คือ 29,794 บาท ไม่ใช่เป็นเงิน 27,716 บาท ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือเป็นเงิน 139,716 บาทหรือ 112,000 บาทดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง และคดีนี้ศาลชั้นต้น วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วฟังว่า จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเงินเพียง 112,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าพยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ตามจำนวนที่ฟ้องแก่โจทก์พยานจำเลยที่นำสืบหักล้างไม่น่าเชื่อถือว่าจำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์เพียง 112,000 บาท นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เนื่องจากคดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2(ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน200 บาท ให้แก่โจทก์”

พิพากษายืน คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาทให้แก่โจทก์

Share