แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยส่งประกาศเลิกจ้างพนักงานไปยัง ธ. ผู้จัดการโรงงานทางโทรสารเพื่อปิดประกาศให้พนักงานโรงงานทราบนั้น ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยส่งโทรสารไปถึงโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบหมายให้ ธ. บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ซึ่งการบอกกล่าวเลิกจ้างในลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าจะมีผลก็ต่อเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ได้ทราบการแสดงเจตนาบอกกล่าวเลิกจ้างนั้นแล้ว แม้ว่า ธ. ได้สั่งให้พนักงานนำสำเนาประกาศเลิกจ้างไปปิดประกาศไว้แล้วแต่ก็เป็นการปิดใกล้เวลาเลิกงาน พนักงานต่างไม่ทราบประกาศดังกล่าวในวันนั้น มารับทราบในวันรุ่งขึ้นบ้าง วันถัดไปบ้าง จึงต้องถือว่าการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีทั้งหกสิบสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 62
โจทก์ทั้งหกสิบสองสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า นายสุวรรณ์ ศรีทรง สามีโจทก์ที่ 1 ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 เป็นลูกจ้างจำเลยเข้าทำงานเป็นพนักงานโรงงาน โดยมิได้กำหนดระยะเวลาจ้าง ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างนายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 นายสุวรรณ์และโจทก์บางคนทราบการบอกเลิกการจ้างเมื่อวันที่ 1 และวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 โจทก์บางคนทราบวันที่ 30 มิถุนายน 2541 การบอกกล่าวเลิกจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกสิบสองเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละหนึ่งเดือนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จตามจำนวนที่ระบุไว้ในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน
จำเลยทั้งหกสิบสองสำนวนให้การว่า จำเลยประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2541 โดยแจ้งให้นายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2541 การบอกกล่าวเลิกจ้างจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุวรรณ์ ศรีทรง สามีโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 เป็นลูกจ้างจำเลย สังกัดโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือนหนึ่งวัน ต่อมาจำเลยขายกิจการให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด จึงส่งสำเนาประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดทางโทรสารจากสำนักงานกลาง กรุงเทพมหานคร ไปยังโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ที่นายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ประจำทำงานอยู่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 และนายธีรวิทย์โตวิวัฒน์ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ได้สั่งให้พนักงานปิดประกาศเลิกจ้างดังกล่าวไว้ที่โรงงานในวันเดียวกันเวลา 16 นาฬิกาเศษ ใกล้เวลาเลิกงานแล้ว เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 แล้ววินิจฉัยว่า พนักงานต่างปฏิเสธว่าไม่ทราบประกาศเลิกจ้างในวันนั้น มารับทราบในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 บ้าง วันที่ 1 กรกฎาคม2541 บ้าง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2541 ต้องถือว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งจะมีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือวันที่ 30 สิงหาคม 2541 เมื่อจำเลยประสงค์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โจทก์ทั้งหกสิบสองจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งหกสิบสองเท่ากับค่าจ้างคนละหนึ่งเดือนตามบัญชีแนบท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (โจทก์ที่ 1 ฟ้องวันที่ 30 มีนาคม 2543 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ฟ้อง วันที่ 1 พฤษภาคม 2543)จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุวรรณ์ ศรีทรง สามีโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 เป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือนหนึ่งวัน ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างในวันสิ้นเดือนทุกเดือน จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือนหนึ่งวัน วันครบกำหนดจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนมิถุนายน 2541 จึงเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ซึ่งหากจำเลยจะเลิกจ้างนายสุวรรณ์สามีโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จำเลยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างช้าที่สุดในวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จึงจะเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปที่ว่าจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างนายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ภายในกำหนดดังกล่าวหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 คณะกรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลของจำเลยประชุมและมีมติให้เลิกจ้างพนักงานในโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 ต่อมาในวันเดียวกันกับที่มีการประชุม นายเทียร เมฆานนท์ชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ลงนามในประกาศเลิกจ้างพนักงานและส่งโทรสารจากกรุงเทพมหานครไปยังโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ก่อนที่จะเลิกงานนายธีรวิทย์ โตวิวัฒน์ ได้รับโทรสารประกาศเลิกจ้างดังกล่าวและสั่งให้พนักงานนำไปปิดประกาศเมื่อเวลา 16 นาฬิกาเศษ ใกล้เวลาเลิกงาน พนักงานต่างไม่ทราบประกาศในวันนั้น มารับทราบในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 บ้าง วันที่ 1กรกฎาคม 2541 บ้าง ดังนี้ การที่จำเลยส่งประกาศเลิกจ้างพนักงานไปยังนายธีรวิทย์ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ทางโทรสารเพื่อปิดประกาศให้พนักงานโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ทราบไม่ใช่เป็นการที่จำเลยส่งโทรสารไปถึงนายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยมอบหมายให้นายธีรวิทย์บอกกล่าวเลิกจ้างนายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 การบอกกล่าวเลิกจ้างในลักษณะนี้เป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า จะมีผลก็ต่อเมื่อนายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ได้ทราบการแสดงเจตนาบอกกล่าวเลิกจ้างนั้นแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่านายธีรวิทย์ได้สั่งให้พนักงานนำสำเนาประกาศเลิกจ้างไปปิดประกาศไว้แล้วก็เป็นการปิดประกาศใกล้เวลาเลิกงาน และพนักงานต่างยังไม่ทราบประกาศดังกล่าวในวันนั้น มารับทราบในวันรุ่งขึ้นบ้าง วันถัดไปบ้าง จึงต้องถือว่าการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยแก่นายสุวรรณ์และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 62 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับงวดค่าจ้างในเดือนสิงหาคม 2541 แก่โจทก์ทั้งหกสิบสอง ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกสิบสองสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน