แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บันทึกที่โจทก์จำเลยทำขึ้น แม้จะมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อข้อตกลงนั้นมีส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินด้วยจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยาหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยาก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 การที่จำเลยยื่นคำให้การว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัว ในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่ จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2533 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายถิระวัฒน์ตาลสกุล อายุ 4 ปีเศษและเด็กชายอภิวัฒน์ ตาลสกุล อายุ 3 ปีเศษเมื่อต้นปี 2537 โจทก์และจำเลยมีปากเสียงกัน จำเลยได้ออกจากบ้านไปโจทก์พาบุตรไปตามหาจำเลยที่จังหวัดเชียงรายเพื่อขอคืนดี แต่จำเลยกลับหาเรื่องทะเลาะกับโจทก์และแย่งเด็กชายถิระวัฒน์หนีไปแล้วไม่กลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีกเลย ต่อมาวันที่ 15มีนาคม 2537 โจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว โดยตกลงที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาจำเลยยินยอมแบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์เป็นเงิน 600,000 บาทตกลงชำระให้โจทก์เป็นงวด ๆ งวดละ 100,000 บาท ทุกวันที่ 15ของเดือน เป็นเวลา 6 เดือน งวดแรกชำระในวันทำบันทึกข้อตกลงส่วนบุตรทั้งสองให้อยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง กล่าวคือ จำเลยไม่ได้ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 500,000บาท ให้โจทก์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 จำเลยทุบตีโจทก์อย่างรุนแรงแล้วเอาบุตรทั้งสองคนไปจากโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรทั้งสองของจำเลย โดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยชำระเงินสินสมรสจำนวน 500,000 บาท ตามที่จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนในอัตราเดือนละ 6,000 บาท จนกระทั่งเด็กชายอภิวัฒน์ตาลสกุล มีอายุ 10 ปี และในอัตราเดือนละ 12,000 บาท จนกระทั่งเด็กชายอภิวัฒน์บรรลุนิติภาวะ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อต้นปี 2537 โจทก์ทะเลาะกับจำเลยแล้วโจทก์พาบุตรทั้งสองไปด้วยเพื่อต่อรองกับจำเลยแต่ในที่สุดโจทก์ได้นำบุตรทั้งสองมาคืนให้จำเลยเลี้ยงดู เนื่องจากโจทก์ไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองให้ได้รับความสุขเท่าที่จำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูในวันที่ 15 มีนาคม 2537 โจทก์เป็นฝ่ายขอแยกทางจากจำเลยเอง จำเลยขอเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรแต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์เรียกร้องขอเงินจากจำเลยจำนวน 600,000 บาทอ้างว่าจะนำไปเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยยินยอมทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2537 และมอบเงินให้แก่โจทก์จำนวน100,000 บาท แต่ภายหลังโจทก์กลับเอาบุตรมาคืนในสภาพที่เจ็บป่วย ซูบผอม เนื่องจากขาดอาหาร จำเลยรับบุตรทั้งสองไปรักษาจนหายจากอาการเจ็บป่วยและได้อุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาด้วยตนเองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยจึงได้บอกเลิกข้อตกลงที่ได้ทำกับโจทก์นับแต่วันที่โจทก์นำบุตรมาคืน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงิน 500,000 บาท จากจำเลยสาเหตุที่จำเลยเคยทำร้ายโจทก์เพราะโจทก์ด่าว่าจำเลยด้วยถ้อยคำที่หยาบคายและด่าว่าบรรพบุรุษของจำเลย ทำให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะ จำเลยไม่เคยใช้ความรุนแรงในการอบรมบุตรทั้งสองและจำเลยไม่เคยสั่งสอนอบรมบุตรทั้งสองว่าโจทก์และบิดามารดาของโจทก์เป็นคนไม่ดี โจทก์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร เนื่องจากโจทก์ไม่มีความห่วงใยบุตร นอกจากนี้โจทก์มีอาชีพขายของ ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน มีรายได้เดือนละไม่กี่พันบาท ส่วนจำเลยเป็นผู้มีอาชีพที่แน่นอน มีบ้านเป็นของตนเองสมควรที่จะเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรทั้งสอง โจทก์เป็นฝ่ายทิ้งร้างจำเลยเกินกว่า 1 ปี แล้วนับแต่เดือนมีนาคม 2537 นอกจากนี้โจทก์ยังทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับจำเลย โดยโจทก์มีนิสัยชอบทะเลาะด่าว่าจำเลยและหมิ่นประมาทเหยียดหยามบิดามารดาจำเลยซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ขอให้ยกฟ้องและให้พิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรทั้งสองของโจทก์โดยให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว กับให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแก่จำเลยเดือนละ 6,000 บาท ไปจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นผู้ทิ้งร้างโจทก์และครอบครัวไปเมื่อปี 2537 โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวเมื่อโจทก์ไปพบจำเลยเพื่อขอให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาทตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยก็พาลหาเรื่องด่าทอโจทก์ ทุบตีทำร้ายร่างกายโจทก์ และสั่งให้คนงานในโรงงานของจำเลยช่วยกันจับโจทก์และพรากเอาบุตรทั้งสองคนไปจากโจทก์ จำเลยกีดกันโจทก์และบุตรทั้งสองไม่ให้พบหน้ากันมาเป็นเวลาสองปีเศษแล้ว จำเลยปกปิดที่อยู่ของบุตรทั้งสองและทำร้ายโจทก์ทุกครั้งที่โจทก์ไปพบกับจำเลยเพื่อขอพบบุตรทั้งสอง เด็กชายถิระวัฒน์ ตาลสกุล มีโรคประจำตัวคือมีความผิดปกติของเม็ดโลหิตขาวทำให้ร่างกายและสุขภาพไม่แข็งแรงมักจะเป็นแผลผุพองที่ผิวหนัง โจทก์เป็นผู้พาบุตรทั้งสองไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาด้วยตัวของโจทก์เอง หากจำเลยไม่ผิดสัญญาโดยชำระเงินให้แก่โจทก์จนครบถ้วนตามสัญญาโจทก์ก็สามารถจะนำมาเป็นทุนการศึกษาวิชาชีพช่างเสริมสวยเพิ่มเติมและเปิดร้านเสริมสวยที่บ้านของโจทก์ เพื่อเลี้ยงดูบุตรทั้งสองให้มีความสุขได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์และจำเลยตกลงกันได้ในประเด็นหย่าโดยยินยอมหย่าขาดจากกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 กันยายน 2540
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายถิระวัฒน์ ตาลสกุล และเด็กชายอภิวัฒน์ ตาลสกุล บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ของโจทก์และจำเลยให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2533 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายถิระวัฒน์ตาลสกุล เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 และเด็กชายอภิวัฒน์ ตาลสกุลเกิดวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2537 โจทก์และจำเลยตกลงที่จะหย่ากันโดยให้ร้อยตำรวจเอกขวัญชัย กองศักดิ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวทำบันทึกข้อตกลงไว้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งศาลชั้นต้นได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญาเพราะตามเอกสารหมาย จ.5 ไม่ได้ให้สิทธิไว้จำเลยก็ได้ยกขึ้นอุทธรณ์ว่า จำเลยยกเลิกสัญญาแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนเห็นว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 แม้จะมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน แต่ตราบใดที่ยังไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ เมื่อข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 มีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ดังนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้…ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เมื่อจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ได้บอกเลิกข้อตกลงแล้ว โจทก์ไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่าไม่มีการบอกล้าง จึงถือว่าโจทก์ยอมรับตามที่จำเลยให้การและฟ้องแย้ง นอกจากนี้คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอหย่า การที่จำเลยยื่นคำให้การและอ้างว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้วย่อมถือได้ว่าคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัวและเป็นการบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่ยังไม่มีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ดังกล่าว จำเลยได้มีการบอกล้างแล้วจึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่โจทก์ได้ หากโจทก์มีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวแก่กันตามสิทธิต่อไปฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นที่เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 อีกต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระเงินจำนวน 500,000บาท แก่โจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะไปฟ้องแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภริยาเป็นคดีใหม่ ภายในอายุความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์