แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4โดยระบุให้ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายคดีนี้และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลในทางจำหน่ายสิทธิเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว คือการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะคดีนี้โดยมีอำนาจตามความที่ปรากฏในเอกสาร ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์10 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ข้อ 7(ก) และกรณีนี้มีผู้มอบอำนาจ3 คน ซึ่งมิได้เป็นผู้มอบอำนาจร่วมกัน แต่มอบอำนาจในตราสารฉบับเดียวกัน ต้องปิดอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคล สำหรับผู้มอบอำนาจคนหนึ่งเป็นเรื่องหนึ่ง โจทก์ปิดอากรแสตมป์รวม30 บาท ซึ่งครบถ้วนตามนัย ประมวลรัษฎากร มาตรา 108 และใช้เป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยได้บรรยายฟ้องแสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3แล้วจำเลยผิดสัญญาโดยไม่ไปรับโอนที่ดินและมอบตั๋วแลกเงินอาวัลชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ตามกำหนดโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยจำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะขออายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อไปดังนั้นคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้จำเลยยกเลิกเพิกถอนการอายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินต่อสำนักงานที่ดินและต่อสำนักงานวางทรัพย์จึงมิใช่คนละเรื่องกับคำฟ้องส่วนโจทก์ที่ 4 ได้บรรยายฟ้องถึงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขาย โดยรับโอนมาจากโจทก์ที่ 3 และแสดงถึงนิติสัมพันธ์ ทั้งเหตุที่จำเลยผิดสัญญา กับการที่จำเลยไปอายัดที่ดินดังกล่าวทำให้โจทก์ที่ 4 เสียหาย พร้อมกับเรียกค่าเสียหายในการนี้ด้วย ดังนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนี้ที่ดินดังกล่าวได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ทายาทของ ข.จึงเป็นเหตุให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแยกกันไปตามทายาทผู้รับมรดกที่ดินของ ข. แต่ละแปลง เนื้อหาสาระของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้ง 3 ฉบับเป็นอย่างเดียวกัน คู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อเป็นบุคคลคนเดียวกันคือจำเลยนี้ ถือได้ว่าเป็นคดีที่คู่ความบางฝ่ายเป็นคู่ความรายเดียวกันจึงเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกันหากแยกฟ้องก็สามารถขอให้พิจารณารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 28โจทก์ทั้งสี่จึงย่อมใช้สิทธิร่วมกันฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้ ข้อฎีกาจำเลยซึ่งจำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้วแต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยให้ และจำเลยมิได้อุทธรณ์การที่จำเลยกลับมายกขึ้นฎีกาแม้ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาว่าผู้รับมอบอำนาจกระทำการนอกเหนืออำนาจหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาและศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยให้ นอกจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะผิดสัญญาแล้วยังมอบอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลด้วยการที่โจทก์ที่ 4 ฟ้องจำเลยและขอศาลบังคับจำเลยให้ทำการเพิกถอนที่ดินที่จำเลยอายัดไว้ มิให้จำหน่ายจ่ายโอนจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยผิดสัญญาและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลนั่นเองโจทก์ที่ 4 จึงหาได้กระทำการนอกเหนืออำนาจแต่อย่างใดไม่ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่พิพาทที่โจทก์ที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. โดยโจทก์ที่ 4เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย และจำเลยเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อ สิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของกองมรดกของ ข. เมื่อโจทก์ที่ 4 ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวโจทก์ที่ 4 จึงรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวด้วย โจทก์ที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะทำการโอนและรับโอนที่ดินที่ซื้อขายในข้อ 1และผู้จะซื้อจะส่งมอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารตามข้อ 2ให้แก่ผู้จะขายให้แล้วเสร็จตามกฎหมายจนกระทั่งสำนักงานที่ดินออกโฉนดใหม่ให้เรียบร้อย ทั้งนี้ภายในวันที่ 17 เมษายน 2531 นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไปและในระหว่างก่อนถึงเวลากำหนดข้างต้นนี้ ผู้จะขายยินยอมให้ความร่วมมือในการที่จะแบ่งที่ดินที่ซื้อขายนี้เป็นแปลงย่อย ๆ ในนามเดิม และยินยอมให้ผู้จะซื้อทำการปรับปรุงถนนและที่ดินตลอดจนทำการก่อสร้างซ่อมแซมเพิ่มเติมได้ ยินยอมให้ขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลง ต่อเติมอาคารขอเลขบ้านมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ การจัดสรรที่ดินหรือการขออนุญาตอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในนามของผู้จะซื้อหรือผู้จะขายก็ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายผู้จะซื้อเป็นผู้ออกเองทั้งสิ้น”จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นความประสงค์ของคู่สัญญาว่าในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้ง 3 แปลง ก่อนถึงกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายยินยอมให้ผู้จะซื้อเป็นผู้ดำเนินการแบ่งที่ดินที่จะซื้อจะขายเป็นแปลงย่อย ๆ ด้วยตนเองโดยผู้จะขายคือฝ่ายโจทก์ให้ความร่วมมือมอบอำนาจให้ผู้จะซื้อคือจำเลยดำเนินการ ดังนั้น การที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่จะซื้อจะขายออกเป็นแปลงย่อย ๆก่อนวันครบกำหนดสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่ใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ผู้จะขาย ทั้งการจดทะเบียนทางภารจำยอมฝ่ายโจทก์ก็ดำเนินการให้แล้วการที่จำเลยไม่ไปรับจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และไม่มอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารให้แก่ฝ่ายโจทก์ภายในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลิกกันเพราะความผิดของจำเลย โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีอำนาจริบมัดจำที่จำเลยวางไว้เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33263 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33264 โจทก์ที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเขียน มณีขาว ในที่ดินโฉนดเลขที่ 33265โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33265โดยรับโอนมาจากโจทก์ที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2532เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33263, 33264 และ 33265 โดยตกลงจะซื้อจากโจทก์ที่ 4 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แยกทำเป็นสัญญา 3 ฉบับ ฉบับแรกทำสัญญากับโจทก์ที่ 1ในราคา 1,460,000 บาทฉบับที่สองทำสัญญากับโจทก์ที่ 2 ในราคา 1,536,000 บาท และฉบับที่สามทำสัญญากับโจทก์ที่ 3 ในราคา 2,030,000 บาท มีข้อตกลงในสัญญาแต่ละฉบับว่า การชำระราคาที่ดินจำเลยจะต้องชำระโดยตั๋วแลกเงินของธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้นและแบ่งการชำระเงินเป็นตั๋วแลกเงินอาวัลตามสัญญาละ 2 ฉบับโดยฉบับแรกสั่งจ่ายในวันที่ 17 ตุลาคม 2531 และฉบับที่สองสั่งจ่ายในวันที่ 17 เมษายน 2532 ตามลำดับส่วนการจดทะเบียนโอนรับโอน และการส่งมอบตั๋วแลกเงินอาวัลทั้งหกฉบับจะต้องให้แล้วเสร็จและถูกต้องตามกฎหมายภายในวันที่ 17 เมษายน 2531 หากจำเลยไม่สามารถจัดการได้ตามกำหนดถือว่าผิดสัญญายอมให้เลิกสัญญาทั้ง 3 ฉบับได้และบรรดาสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดินดังกล่าวยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ทันทีต่อมาผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แจ้งให้จำเลยไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาพร้อมชำระราคาที่ดินแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 3 ฉบับและให้จำเลยยกเลิกและเพิกถอนการอายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินทั้ง 3 โฉนดต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร และต่อสำนักงานวางทรัพย์การที่จำเลยไปอายัดที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย เป็นค่าขาดประโยชน์จากการนำที่ดินออกให้ผู้อื่นเช่า ในอัตราค่าเช่าตารางวาละ 10 บาท ต่อเดือนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขอคิดค่าเสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2531ถึงเดือนสิงหาคม 2533 อันเป็นเดือนที่โจทก์ทั้งสี่นำคดีมาฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงิน 83,950 บาท และ88,320 บาท สำหรับโจทก์ที่ 3 ขอเรียกค่าเสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2531 ถึงเดือนธันวาคม 2532 เป็นเวลา 15 เดือนเป็นเงิน 60,900 บาท ส่วนโจทก์ที่ 4 ผู้รับโอนที่ดินของโจทก์ที่ 3ขอเรียกค่าเสียหายต่อจากโจทก์ที่ 3 อีกเดือนละ 4,060 บาทนับแต่เดือนมกราคม 2533 ถึงเดือนสิงหาคม 2533เป็นเวลา 8 เดือน เป็นเงิน 32,480 บาท และโจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ขอคิดค่าเสียหายในอัตราเดียวกันกับอัตราข้างต้นที่มีสิทธิจะได้รับนับถัดจากเดือนฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยกเลิกเพิกถอนการอายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนการอายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 33263,33265 ต่อสำนักงานที่ดิน หากขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน265,650 บาท และค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ต่อไปอีกเดือนละ 11,550 บาท นับถัดจากเดือนฟ้องจนกว่าจำเลยจะยอมเพิกถอนการอายัดห้ามจำหน่ายที่จ่ายโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์แต่ละคนฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินแยกกันคนละฉบับ และที่ดินที่จะซื้อจะขายเป็นคนละแปลงกันมูลความแห่งคดีของโจทก์แต่ละคนจึงแบ่งแยกออกจากกัน และโจทก์แต่ละคนไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจทั้งหมดมิใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ที่ 4 ไม่ใช่คู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลย และมิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันโจทก์ที่ 4 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และหนังสือมอบอำนาจให้อำนาจเฉพาะการฟ้องคดีเกี่ยวกับการผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแต่ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยทำการเพิกถอนการอายัดที่ดินตามฟ้องด้วย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสี่กลับขอให้จำเลยไปทำการเพิกถอนการอายัดที่ดินที่จะซื้อจะขายโดยมิได้แสดงให้แจ้งชัดว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยไปทำการเพิกถอนการอายัดที่ดินโดยอาศัยสิทธิอันใดและสำหรับโจทก์ที่ 4 ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 4 อย่างไรทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสี่เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องต่อจำเลย ไม่นำโฉนดที่ดินไปยื่นขอแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยให้แล้วเสร็จตามที่จำเลยแจ้งไปเมื่อครบกำหนดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จำเลยจะชำระราคาดินแต่โจทก์ทั้งสามไม่ยอมรับและไม่ยอมไปทำการจดทะเบียนทางภารจำยอมให้จำเลยเข้าออกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขายให้แก่จำเลยตามสัญญา จำเลยได้นำเงินไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ และมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 นำโฉนดที่ดินไปยื่นขอรังวัดและแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยในนามของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แล้วเสร็จ และให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขายให้จำเลยแต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เพิกเฉย ค่าเสียหายตามฟ้องก็สูงเกินความเป็นจริง การที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทำให้จำเลยเสียหายขาดประโยชน์จากการนำที่ดินที่จะซื้อไปจำหน่าย สำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน1,095,000 บาท ที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,152,000 บาทและที่ดินของโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 812,000 บาท โจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดต่อจำเลยโดยไปทำการขอแบ่งแยกที่ดินที่จะซื้อจะขายออกเป็นแปลงย่อยแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย และเนื่องจากที่ดินโฉนดเลขที่ 33265 ได้โอนมาเป็นของโจทก์ที่ 4 แล้ว ดังนั้น โจทก์ที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 3 ต่อจำเลยด้วย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่และบังคับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปทำการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 33263 และ 33264 ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับออกเป็นแปลงย่อยในนามของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามจำนวนแปลงและจำนวนเนื้อที่ดินตามที่จำเลยกำหนดไว้แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดดังกล่าวให้แก่จำเลยพร้อมกับจดทะเบียนทางภารจำยอมมีความกว้างไม่ต่ำกว่า3 วา ให้จำเลยเข้าออกระหว่างซอยสวัสดิ์รักษากับที่ดินที่จะซื้อจะขายโดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 รับเงินค่าที่ดินจำนวน1,460,000 บาท และจำนวน 1,536,000 บาท จากจำเลยตามลำดับ กับให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายเพราะขาดประโยชน์เป็นเงินจำนวน 1,095,000 บาท และ1,152,000 บาท ตามลำดับ แก่จำเลย และให้โจทก์ที่ 3และที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันไปทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่33265 ออกเป็นแปลงย่อยในนามของโจทก์ที่ 3 หรือโจทก์ที่ 4 ตามจำนวนแปลงและจำนวนเนื้อที่ดินตามที่จำเลยกำหนดไว้แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดดังกล่าวให้แก่จำเลยพร้อมกับจดทะเบียนทางภารจำยอมมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 3 วาให้จำเลยเข้าออกระหว่างซอยสวัสดิรักษากับที่ดินที่จะซื้อจะขายโดยให้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันรับค่าที่ดินจำนวน 2,030,000 บาท จากจำเลย และชำระค่าเสียหายเพราะขาดประโยชน์เป็นเงินจำนวน 812,000 บาท แก่จำเลยหากโจทก์ทั้งสี่ไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะซื้อจะขายและจดทะเบียนทางภารจำยอมดังกล่าวให้จำเลยไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้โจทก์ทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินค่าเสียหายเพราะขาดประโยชน์ตามที่โจทก์แต่ละคนต้องรับผิดนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ผิดสัญญาเพราะโจทก์ทั้งสี่ได้จดทะเบียนทางภารจำยอมเข้าออกที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2530และการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยตามสัญญาเป็นหน้าที่ของจำเลย โดยโจทก์ทั้งสี่เป็นแต่เพียงยินยอมให้ความร่วมมือเท่านั้นทั้งเหตุที่ไม่สามารถโอนที่ดินได้เพราะจำเลยไม่ดำเนินการขออนุญาตจัดสรรและค้าที่ดินต่อทางราชการให้ถูกต้องตามกฎหมายทางราชการจึงไม่อนุญาตให้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยเกินความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนการอายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 33263, 33265 ต่อสำนักงานที่ดินหากเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 265,650 บาทแก่โจทก์ทั้งสี่ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 11,550 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะได้เพิกถอนการอายัดที่ดินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 โดยระบุให้ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายคดีนี้ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลในทางจำหน่ายสิทธิ เช่น ยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้องการประนีประนอมยอมความการสละสิทธิการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา การขอให้พิจารณาใหม่มีอำนาจรับเงิน หรือค่าฤชาธรรมเนียม หรือรับเอกสารคืนจากศาลการแต่งตั้งทนายความเพื่อการนี้ด้วย เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว คือการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะคดีนี้โดยมีอำนาจตามความที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาทตามบัญชีอากรแสตมป์ ข้อ 7(ก) และกรณีนี้มีผู้มอบอำนาจ3 คน ซึ่งมิได้เป็นผู้มอบอำนาจร่วมกัน แต่มอบอำนาจในตราสารฉบับเดียวกัน ต้องปิดอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคล สำหรับผู้มอบอำนาจคนหนึ่งเป็นเรื่องหนึ่ง โจทก์ปิดอากรแสตมป์รวม 30 บาท ตามนัยประมวลรัษฎากร มาตรา 108 ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 จึงปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรแล้วใช้เป็นพยานหลักฐานได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาข้อที่สองต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และคำฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องจึงเป็นคนละเรื่องกัน ไม่อาจเข้าใจได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยรับผิดในเรื่องใด โดยเฉพาะโจทก์ที่ 4 มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า มีความสัมพันธ์อย่างไรกับจำเลย และจำเลยกระทำการอย่างไรที่ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 4อันก่อให้เกิดสิทธิฟ้องร้องจำเลยได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องนั้นเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องแสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วจำเลยผิดสัญญาโดยไม่ไปรับโอนที่ดินและมอบตั๋วแลกเงินอาวัลชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ตามกำหนดในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะขออายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป ดังนั้นคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้จำเลยยกเลิกเพิกถอนการอายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางกะปิ และต่อสำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดีจึงมิใช่คนละเรื่องกับคำฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 4 ได้บรรยายฟ้องถึงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33265 โดยรับโอนมาจากโจทก์ที่ 3 และแสดงถึงนิติสัมพันธ์ ทั้งเหตุที่จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน กับการที่จำเลยไปอายัดที่ดินดังกล่าวทำให้โจทก์ที่ 4 เสียหาย พร้อมกับเรียกค่าเสียหายในการนี้ด้วย จึงเห็นได้ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อที่สามตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิร่วมกันฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้หรือไม่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์หรือมูลคดีของโจทก์แต่ละคนจึงไม่เข้าหลักกฎหมายซึ่งจะเข้าเป็นคู่ความร่วมในคดีเดียวกันได้การที่โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันฟ้องคดีนี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนี้เป็นที่ดินบางส่วนในที่ดินกองมรดกของนายเขียน มณีขาว จำนวน 5 แปลงที่โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเขียนได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับบริษัทรามาพัฒนา จำกัด ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมายจ.29 แต่ไม่สามารถโอนกันได้ เนื่องจากที่ดิน 4 ใน 5 แปลงผูกพันตามสัญญาเช่าที่ห้ามผู้ให้เช่านำที่ดินไปขาย ต่อมามีการเลิกสัญญาเช่าที่ดิน 4 แปลง ดังกล่าวแล้วทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 5 แปลง รวมทั้งที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง ใหม่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 จ.3 และ จ.7 ถึง จ.9 แต่ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9นี้ ที่ดินดังกล่าวได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ทายาทของนายเขียน จึงเป็นเหตุให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแยกกันไปตามทายาทผู้รับมรดกที่ดินของนายเขียนแต่ละแปลงแต่เนื้อหาสาระของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 3 ฉบับนั้นเป็นอย่างเดียวกัน คู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อเป็นบุคคลคนเดียวกันคือจำเลยนี้ ถือได้ว่าเป็นคดีที่คู่ความบางฝ่ายเป็นคู่ความรายเดียวกัน จึงเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกัน หากแยกฟ้องก็สามารถขอให้พิจารณารวมกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 28 โจทก์ทั้งสี่จึงย่อมใช้สิทธิร่วมกันฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้
ปัญหาข้อที่สี่ตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีแทนหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีนี้แทน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ระบุชัดแจ้งว่า โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะผิดสัญญา หามีข้อความตอนใดปรากฏว่าเป็นการมอบอำนาจให้ทำการเพิกถอนที่ดินที่จำเลยอายัดไว้มิให้จำหน่ายจ่ายโอนแต่อย่างใด โจทก์ที่ 4 อาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกระทำการนอกเหนืออำนาจไม่ได้นั้น เห็นว่าฎีกาจำเลยส่วนนี้ จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การด้วยแต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยให้ จำเลยมิได้อุทธรณ์ แต่กลับมายกขึ้นต่อสู้อีกครั้งหนึ่งในชั้นฎีกาแม้ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่ปัญหาว่าผู้รับมอบอำนาจกระทำการนอกเหนืออำนาจหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาและศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยให้ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จะเห็นได้ว่านอกจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 4 ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะผิดสัญญาแล้วยังมอบอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 4 ฟ้องจำเลยและขอศาลบังคับจำเลยให้ทำการเพิกถอนที่ดินที่จำเลยอายัดไว้ มิให้จำหน่ายจ่ายโอนจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยผิดสัญญาและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลนั่นเองโจทก์ที่ 4จึงหาได้กระทำการนอกเหนืออำนาจแต่อย่างใดไม่
ปัญหาข้อที่ห้าตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ที่ 4 มิได้เป็นคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลย โจทก์ที่ 4 ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยได้นั้น เห็นว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33265 ตามเอกสารหมาย จ.7 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเขียน มณีขาว โดยโจทก์ที่ 4 เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย และจำเลยเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อ สิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของกองมรดกของนายเขียนที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 33265 เมื่อโจทก์ที่ 4 ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าว โจทก์ที่ 4 จึงรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวด้วย โจทก์ที่ 4จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ทั้งสี่หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและแต่ละฝ่ายเสียหายเพียงใด จำเลยฎีกาว่าจำเลยจึงมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องนั้นเห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ข้อ 3ระบุความไว้อย่างเดียวกันว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะทำการโอนและรับโอนที่ดินที่ซื้อขายในข้อ 1 และผู้จะซื้อจะส่งมอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารตามข้อ 2 ให้แก่ผู้จะขายให้แล้วเสร็จตามกฎหมายจนกระทั่งสำนักงานที่ดินออกโฉนดใหม่ให้เรียบร้อย ทั้งนี้ภายในวันที่ 17 เมษายน 2531 นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป และในระหว่างก่อนถึงเวลากำหนดข้างต้นนี้ผู้จะขายยินยอมให้ความร่วมมือในการที่จะแบ่งที่ดินที่ซื้อขายนี้เป็นแปลงย่อย ๆ ในนามเดิม และยินยอมให้ผู้จะซื้อทำการปรับปรุงถนนและที่ดินตลอดจนทำการก่อสร้างซ่อมแซมเพิ่มเติมได้ ยินยอมให้ขออนุญาตปลูกสร้าง ดัดแปลงต่อเติมอาคารขอเลขบ้าน มิเตอร์ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์การจัดสรรที่ดิน หรือการขออนุญาตอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในนามของผู้จะซื้อหรือผู้จะขายก็ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายผู้จะซื้อเป็นผู้ออกเองทั้งสิ้น”จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นความประสงค์ของคู่สัญญาว่าในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้ง 3 แปลง ก่อนถึงกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ ผู้จะขายยินยอมให้ผู้จะซื้อเป็นผู้ดำเนินการแบ่งที่ดินที่จะซื้อจะขายเป็นแปลงย่อย ๆ ด้วยตนเอง โดยผู้จะขายคือฝ่ายโจทก์ให้ความร่วมมือมอบอำนาจให้ผู้จะซื้อคือจำเลยดำเนินการ มิฉะนั้นคงไม่มีข้อตกลงต่อไปว่าฝ่ายโจทก์ยินยอมให้จำเลยทำการปรับปรุง ที่ดินตลอดจนทำการก่อสร้างซ่อมแซม ดัดแปลงต่อเติมอาคารได้ และยังให้จำเลยเป็นผู้ขออนุญาตเกี่ยวกับสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวต่อทางราชการและรัฐวิสาหกิจโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ดังนั้น การที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่จะซื้อจะขายออกเป็นแปลงย่อย ๆ ก่อนวันครบกำหนดสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่ใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ ทั้งการจดทะเบียนทางภารจำยอมจำเลยก็รับว่าฝ่ายโจทก์ดำเนินการให้แล้ว การที่จำเลยไม่ไปรับจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และไม่มอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารให้แก่ฝ่ายโจทก์ภายในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลิกกันเพราะความผิดของจำเลย โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีอำนาจริบมัดจำที่จำเลยวางไว้เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาได้
พิพากษายืน