แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าเช่าซื้อรถยนต์ต่อจากผู้เช่าซื้อเดิม โดยชำระเงินดาวน์ ให้ จ. ทันที เป็นเงินถึง 20,000 บาททั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนเช่าซื้อและใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงทั้งยังไม่ทราบว่าคู่สัญญาเดิม จะยอมให้จำเลยที่ 4 เข้าเป็นผู้เช่าซื้อแทนหรือไม่ เป็นการผิดปกติวิสัยที่คนทั่วไปจะทำกัน ไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ นอกจากนั้นในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 4 ก็ให้การว่าเป็นการซื้อขายไม่ใช่เช่าซื้อ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4ซื้อรถยนต์ของผู้เสียหายจากจำเลยที่ 1 ในราคาเพียง 20,000 บาท จำเลยที่ 4 รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์คันที่ถูกปล้นราคาที่แท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด และรับซื้อไว้ในราคาที่ถูกกว่ากันมาก เป็นการชี้ให้เห็นว่าไม่น่าจะซื้อไว้โดยสุจริต.
ย่อยาว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีหมายเลขดำที่1217/2531 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 6และคดีดังกล่าวถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,340, 340 ตรี, 357, 32, 33, 80, 288 และริบหมอนกระสุนปืน หัวกระสุนและรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-2159 สมุทรสาคร
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่, 340 ตรี, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 30 ปี จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357วรรคสอง ลงโทษจำคุก 3 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ20 ปี จำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2531 เวลากลางคืนติดต่อกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกมีปืนเป็นอาวุธและมีรถยนต์เป็นยานพาหนะร่วมกันปล้นเอารถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ร-2511กรุงเทพมหานคร ของบริษัทพระนครยนตร จำกัด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายวินัย ผดุงกิจ ผู้เสียหายไป และได้ใช้ปืนยิงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2531 จำเลยที่ 4 ได้รับรถยนต์คันที่ถูกปล้นไปไว้ในครอบครอง และไปขายให้จำเลยที่ 5 ในวันเดียวกันปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานรับของโจรหรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว ข้อที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าเป็นการเช่าซื้อต่อโดยชำระแต่เฉพาะเงินดาวน์แล้วไปผ่อนส่งต่อนั้น ก็มีคำอ้างของจำเลยที่ 4 ลอย ๆ และไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ เพราะการที่จำเลยที่ 4จะตกลงเช่าซื้อต่อโดยชำระเงินดาวน์ให้นางเจี๊ยบทันทีเป็นเงินถึง20,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนเช่าซื้อและใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ทั้งยังไม่ทราบว่าคู่สัญญาเดิมจะยอมให้จำเลยที่ 4 เข้าเป็นผู้เช่าซื้อแทนหรือไม่นั้น เป็นการผิดปกติวิสัยที่คนทั่วไปจะทำกัน นอกจากนั้นในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 4 ก็ให้การว่าเป็นการซื้อขายไม่ใช่เช่าซื้อ และขณะที่ทำการซื้อขายไม่มีใครรู้เห็นรายละเอียดปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 4 เอกสารหมาย จ.36ที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกเองโดยไม่อ่านให้จำเลยที่ 4 ฟังนั้นไม่มีเหตุผลที่จะให้เชื่อได้ เพราะพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนก็เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไม่มีเหตุที่จะกลั่นแกล้งจำเลยที่ 4 และที่จะตกแต่งข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การดังกล่าวนั้นขึ้นเอง ก็เห็นว่าไม่น่าจะทำได้โดยละเอียดอย่างนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ซื้อรถยนต์ของผู้เสียหายจากจำเลยที่ 1 ในราคาเพียง 20,000 บาท จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจะรู้ราคาของรถยนต์ตามสภาพได้ดี ได้ความจากคำของผู้เสียหายและสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.42 ว่า รถยนต์คันที่ถูกปล้นไปนั้น เช่าซื้อมาในราคา 314,846 บาท จำเลยเองก็เบิกความรับว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีสภาพใหม่ ซื้อเงินสดราคาประมาณ 300,000บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์คันดังกล่าวราคาที่แท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 20,000 บาท เท่านั้น เป็นการชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 4ไม่น่าจะรับซื้อไว้โดยสุจริต พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 4 รับซื้อรถยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิด เมื่อเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร”
พิพากษายืน.