คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า “รูปคดีมีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง ข้าพเจ้าจึงขอรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ เพื่อศาลอุทธรณ์จะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป” เป็นการรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยตรงตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ทวิ บัญญัติไว้ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงให้โจทก์จึงชอบแล้ว
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งเรื่องการลงนามแทนผู้ว่าการว่า ในกรณีที่เป็นเรื่องปกติของฝ่ายการธนาคาร ให้ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารหรือรองผู้อำนวยการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารเป็นผู้ลงนามแทนผู้ว่าการได้ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่า ม.ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เสียหายคดีนี้ได้ลงนามในเอกสารแทนผู้ว่าการถึงผู้บังคับการกองปราบปรามร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยในข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหายกับมอบอำนาจให้ ล.เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่ง ล.ก็ได้ร้องทุกข์และลงลายมือชื่อในบันทึกมอบคดีความผิดอันยอมความได้แล้ว ถือได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว เพราะการร้องทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาในคดีความผิดต่อส่วนตัวที่จะต้องปฏิบัติ หาใช่เรื่องผิดปกติไม่
เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง คดีจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น แล้วพิพากษาไปตามรูปความได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยมาครบถ้วนพอที่จะพิพากษาคดีไปได้แล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่สมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งมาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามรูปความนั้นได้ตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา240 บัญญัติไว้ในตอนต้น ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

Share