คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5676/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 182 เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องและศาลรับคำฟ้องแล้ว ศาลย่อมนัดชี้สองสถานไปได้ โดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันเท่านั้น ไม่ต้องนับจากวันที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำให้การ จะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่จำเป็น และวันนัดชี้สองสถานนั้นศาลอาจอนุญาตให้เลื่อนไปได้หากมีเหตุสมควร ทั้งการนัดชี้สองสถานตั้งแต่วันที่ศาลรับคำฟ้องเช่นในคดีนี้ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องเสียเปรียบ เพราะจำเลยที่ 1 สามารถแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาทหรือตกลงกันกะประเด็นข้อพิพาทต่อศาลได้ เมื่อศาลทำการชี้สองสถานแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลไม่ถูกต้องอย่างไร เมื่อศาลชั้นต้นแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน การกำหนดวันชี้สองสถานของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

Share