คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5673/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงบทบัญญัติที่เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่โจทก์เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยังคงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง (1) ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 8 และที่ 9 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนได้ด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (5)
โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 โดยอ้างเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่ารับฟังไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือยกเสีย ถ้าหากมีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง เหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันรับฟังไม่ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2562)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1, 125 จำเลยที่ 8 และที่ 9 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 145, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1, 125
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ที่บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากรรมการผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” นั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยังคงมีอำนาจฟ้องกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง (1) ส่วนที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสาม (1) มิให้คดีทุจริตและประพฤติมิชอบรวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จึงมิใช่คดีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อกันตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง อันจะอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นในคดีนี้ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ และที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 และที่ 9 กล่าวหาว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ในคดีนี้นั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 8 และที่ 9 ได้ด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (5) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ต่อศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 9 ที่มีมติว่าโจทก์กระทำความผิดกรณีออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ และต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 9 มีมติให้ส่งมติว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าวต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และการกระทำของจำเลยที่ 8 และที่ 9 เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และยังเป็นการกระทำความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานด้วย โดยโจทก์อ้างเหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 มีมติดังกล่าวทั้งที่คำร้องของนายวิรัตน์ กับพวก อันเป็นมูลเหตุของการมีมติดังกล่าว ไม่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำร้อง และผู้ร่วมลงชื่อไม่แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และไม่ระบุวันเดือนปีที่มีการลงลายมือชื่อให้ชัดเจน เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนายภักดี ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่นายภักดีเข้าร่วมประชุมพิจารณาและลงมติด้วย ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 มิได้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 8 และที่ 9 ไม่มีอำนาจไต่สวนและร่วมลงมติกล่าวหาโจทก์ อีกทั้งโจทก์มิได้เป็นผู้มีอำนาจออกหนังสือเดินทางและไม่เคยมีคำสั่งให้ออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ การออกหนังสือเดินทางเป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอธิบดีกรมการกงสุล โจทก์มิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่เหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยแล้ว โดยวินิจฉัยว่า นายวิรัตน์มีหนังสือกล่าวโทษโจทก์ในคดีนี้ต่อประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีหลักฐานที่เป็นเหตุแห่งการกล่าวโทษ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ชอบที่จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ และนายภักดี ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเริ่มปฏิบัติหน้าที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 ได้รับการสรรหาและรับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ย่อมเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การประชุม การลงมติ และการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังวินิจฉัยด้วยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จนถึงวันที่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นคดีนี้ โดยอ้างเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่ารับฟังไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ไปแล้ว เหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันรับฟังไม่ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานในคดีนี้ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share