คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3643/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯข้อ 45 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างสิทธิของลูกจ้างที่จะเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเกิดขึ้นเมื่อเลิกจ้าง เมื่อนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันฟ้งอยังไม่เกินกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องค่าจ้างดังกล่าวของลูกจ้างไม่ขาดอายุความ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 9กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย แสดงว่าวันหยุดตามประเพณีนั้น นายจ้างได้ประกาศกำหนดวันหยุดไว้ล่วงหน้าแน่นอนแล้วกรณีลูกจ้างไม่ได้หยุดในวันหยุดตามประเพณีประจำวันใดเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างตามปกติแล้ว นายจ้างมิได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีแก่ลูกจ้าง สิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีประจำวันนั้นย่อมเกิดขึ้นทันที
ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีช่วงตั้งแต่วันที่ 12มิถุนายน 2525 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2526 โดยไม่ปรากฏว่าในระหว่างปีนั้นมีวันใดเป็นวันหยุดบ้าง และนายจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างตามปกติเดือนละ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน 2ปี สิทธิเรียกร้องค่าจ้างดังกล่าวจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2527 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์นิ้วมือขาด 3 นิ้วไม่สามารถทำงานต่อไปได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนมือข้างหนึ่งต้องพิการนั้นจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านอกจากนี้ช่วงตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2525 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2526 และช่วงตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2526 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2527 จำเลยมิได้ให้โจทก์หยุดในวันหยุดตามประเพณีซึ่งมีปีละ 13 วัน และมิได้จัดให้โจทก์หยุดสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 6 วัน จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดทั้งสองประเภทนั้นแก่โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยจ้างโจทก์เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2527 ก่อนหน้านั้นโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หลังจากโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ได้ประมาณ 10 วันโจทก์ประมาททำให้ได้รับอันตรายที่นิ้วมือจนไม่อาจทำงานได้ จำเลยที่ 1จึงเลิกจ้างโจทก์ในเดือนเดียวกัน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย สำหรับวันหยุดตามประเพณีนั้นเดือนมีนาคม 2527 ไม่มีวันหยุดตามประเพณี และโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ไม่ครบ 1 ปี ไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1ให้โจทก์หยุดในวันหยุดทั้งสองประเภทแล้ว สิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้องขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เคลือบคลุมโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 2 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2527 โจทก์ก็ลาออกไปทำงานกับจำเลยที่ 1โจทก์หยุดในวันหยุดตามประเพณีและในวันหยุดพักผ่อนประจำปีครบถ้วนแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2524 กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือนจำเลยที่ 2เป็นหัวหน้างานและเป็นผู้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2527 จำเลยทั้งสองจึงเป็นนายจ้าง การเลิกจ้างมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแต่ไม่ใช่เป็นกรณีเลิกจ้างเพราะโจทก์กระทำความผิด จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้งสองปีนั้นจำเลยมิได้ให้โจทก์หยุด จึงต้องจ่ายค่าจ้างแทน และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 27,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า2,400 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี 3,900 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,800 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีช่วงตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2525 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2526 ขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ฟ้องภายในกำหนด 2 ปีนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ฉะนั้น สิทธิของลูกจ้างที่จะเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเกิดขึ้นเมื่อเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2527และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 จึงยังไม่ล่วงเลยกำหนด 2 ปีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ในช่วงดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 9 กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย แสดงว่าวันหยุดตามประเพณีนั้น นายจ้างได้ประกาศกำหนดวันหยุดไว้ล่วงหน้าแน่นอนแล้ว ดังนั้น กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้หยุดในวันหยุดตามประเพณีประจำวันใดเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างตามปกติแล้ว นายจ้างมิได้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีให้แก่ลูกจ้าง สิทธิของลูกจ้างที่จะเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีประจำวันนั้นยอมเกิดขึ้นทันที แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีเป็นรายปีโดยไม่ปรากฏว่าในระหว่างปีมีวันใดเป็นวันหยุดบ้างและจำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างตามปกติเดือนละ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีของโจทก์ช่วงตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2525 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2526 จึงเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไป เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องย่อมล่วงเลยกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีของโจทก์ช่วงแรกขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีแก่โจทก์ทั้งสองช่วงหรือทั้งสองปีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,950 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share