คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวมีลายมือชื่อ ส. ในช่องผู้ขอประกันซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อปลอมและมีลายมือชื่อจำเลย พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยรู้เห็นในการปลอมลายมือชื่อ ส. ในช่องผู้ขอประกันแล้วให้นำมายื่นต่อศาลชั้นต้นและแถลงเท็จต่อศาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31และมาตรา 33
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดต่อศาล ถ้าได้กระทำต่อหน้าศาล ข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดก็จะปรากฏต่อศาลแล้ว ศาลย่อมลงโทษได้ทันที แต่ถ้ามิได้กระทำต่อหน้าศาลหรือศาลยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลนั้นจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ศาลก็ชอบที่จะไต่สวนหาความจริงในภายหลังได้
บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป การที่ศาลชั้นต้นบันทึกถ้อยคำของ ส. ไว้ในแบบพิมพ์คำให้การโดย ส. ได้ปฏิญาณหรือสาบานตนแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 แม้จะมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย ก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว
ศาลล่างมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษจำเลย ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ปล่อยชั่วคราวในวันที่โจทก์ฟ้องรวมสี่ครั้ง สองครั้งแรกศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ครั้งที่สามยื่นโฉนดที่ดินมีชื่อนางสมัยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นหลักประกัน คำร้องขอปล่อยชั่วคราวระบุว่านางสมัยเป็นผู้ยื่น มีภาพถ่ายบัตรประจำตัวข้าราชการของนางสมัยและลายมือชื่อผู้ให้ความยินยอมระบุว่าเป็นลายมือชื่อของสามีนางสมัย ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และครั้งที่สี่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ขอประกันมาพบก่อน แต่ผู้ขอประกันไม่มาพบ รุ่งขึ้นปรากฏว่าคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่สามและครั้งที่สี่หายไปจากสำนวน แต่โฉนดที่ดินยังเก็บอยู่ที่จ่าศาล ศาลชั้นต้นสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลได้ความว่าพวกของจำเลยเอาเอกสารดังกล่าวไป สอบถามนางสมัยแล้ว นางสมัยยืนยันว่า ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยแล้วแต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ นางสมัยได้มอบโฉนดพร้อมทั้งเอกสารให้จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์เอง ไม่ทราบเรื่องการนำโฉนดที่ดินดังกล่าวมาประกันตัวจำเลยและไม่ได้ลงชื่อในคำร้องต่าง ๆ ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นสอบถามจำเลย จำเลยแถลงว่าคำร้องขอปล่อยชั่วคราวฉบับแรกไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียนแต่เข้าใจว่านายวิชัยน้องชายจำเลยเป็นผู้ยื่น ฉบับที่สองใครจะเป็นผู้เขียนและผู้ยื่นไม่ทราบสอบถามนายวิชัยน้องชายจำเลยแล้ว นายวิชัยแถลงว่าใครเป็นผู้เขียนคำร้องและใครนำไปให้จำเลยลงชื่อไม่ทราบ โฉนดที่ดินดังกล่าวก็ไม่ได้นำมาประกันตัวจำเลย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการละเมิดอำนาจศาล ตามความในมาตรา ๓๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้จำคุกจำเลยและนายวิชัยคนละ ๖ เดือน
จำเลยและนายวิชัยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า นายวิชัยไม่มีความผิด ให้ปล่อยตัวไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้น โดยเสนอโฉนดที่ดินซึ่งยังมีชื่อนางสมัยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นหลักประกันตัวจำเลย โดยจำเลยลงลายมือชื่อในคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวและมีลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของนางสมัยในช่องผู้ขอประกัน น่าเชื่อว่าลายมือชื่อนางสมัยในช่องผู้ขอประกันที่ระบุว่าเป็นของนางสมัยนั้นเป็นลายมือชื่อปลอม และพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยรู้เห็นในการปลอมลายมือชื่อนางสมัยในช่องผู้ขอประกันแล้วให้นำมายื่นต่อศาลชั้นต้น และแถลงเท็จต่อศาล จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๓
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยภายหลังที่การละเมิดอำนาจศาลผ่านพ้นไปแล้ว และการสอบปากคำพยานก็มิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จะลงโทษจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลในภายหลังไม่ได้นั้น เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นความผิดต่อศาล ถ้าได้กระทำต่อหน้าศาล ข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดก็จะปรากฏต่อศาลแล้ว ศาลย่อมลงโทษได้ทันที แต่ถ้ามิได้กระทำต่อหน้าศาลหรือศาลยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่ดังเช่นกรณีนี้ ศาลก็ชอบที่จะไต่สวนหาความจริงในภายหลังได้ และบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลนี้เป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไปดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นบันทึกถ้อยคำของนางสมัยไว้ในแบบพิมพ์คำให้การโดยนางสมัยได้ปฏิญาณหรือสาบานตนแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๑๒ แม้จะมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว
ตามพฤติการณ์แห่งคดีสมควรลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมา และศาลล่างทั้งสองมิได้อ้างบทกฎหมายที่เป็นบทลงโทษจำเลย ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทเสียให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๓ ให้จำคุกจำเลย ๓ เดือน

Share