คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916-2918/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์หลายงวด โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะพร้อมใจกันหยุดงานได้ กรณีหาใช่เป็นการนัดหยุดงานเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้อันจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ไม่ และกรณีดังกล่าวก็มิใช่เป็นการที่โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การและฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่า จำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ทั้งหมดกับคนงานอื่นๆ ได้ร่วมกันนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง พนักงานประนอมข้อพิพาทได้เจรจาระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยตกลงให้จำเลยปิดโรงงานชั่วคราวในวันที่ 6 ธันวาคม 2525 หากยังไม่สามารถเปิดได้ โจทก์ตกลงให้จำเลยปิดงานต่อไปได้การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งหมดพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลย

โจทก์ทั้งสามสำนวนให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2525 โจทก์ไปขอรับค่าแรงงานค้างจ่ายจากจำเลยจำเลยจ่ายให้โจทก์คนละ 100 บาท โจทก์ขอเพิ่มอีก 100 บาท แต่จำเลยปฏิเสธ ต่อมาโจทก์ก็ไปขอรับค่าแรงงานค้างจ่ายกับจำเลยอีกแต่ตกลงกันไม่ได้ โจทก์จึงไปที่แรงงานจังหวัดสมุทรสาครขอให้มาไกล่เกลี่ยแต่จำเลยยังยืนยันตามเดิม เข้าวันที่ 26 ตุลาคม 2525 โจทก์กับพวกได้ยืนรอรถตามจุดที่รถของจำเลยเคยวิ่งรับส่งเป็นประจำแต่รถของจำเลยไม่มารับ โจทก์กับพวกจึงขึ้นรถมาโรงงาน ปรากฏว่าประตูโรงงานปิดตามคำสั่งของจำเลยโจทก์จึงพากันมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง จำเลยปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2525 เปิดทำงานวันที่ 6 ธันวาคม 2525 โดยกล่าวหาว่าคนงานประท้วงจึงปิดโรงงาน การหยุดงานของโจทก์กับพวกสืบเนื่องมาจากจำเลยเป็นต้นเหตุทั้งสิ้น ความเสียหายตามฟ้องแย้งเกินความจริง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยผิดนัดชำระค่าจ้างแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานก่อนแล้วโจทก์ไม่มาทำงานให้จำเลยตามข้อสัญญาอันเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะทำได้ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมกันนัดหยุดงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่ การนัดหยุดงานของโจทก์จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยและเจ้าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ และแม้จำเลยจะเสียหายเนื่องจากการหยุดงานของโจทก์ ก็มิใช่เรื่องที่โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ และฟังว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงให้จำเลยหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2525 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2525 ซึ่งระหว่างนั้นโจทก์ยังมีสภาพเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมีหน้าที่ต้องทำงานให้จำเลยตามคำสั่งและจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้เป็นการตอบแทนการทำงานตามจำนวนและเวลาที่ตกลงกัน เมื่อได้ความว่าฝ่ายโจทก์ทำงานให้จำเลยมาตลอดแต่ต่อมาจำเลยกลับไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลา โดยผิดนัดชำระค่าจ้างมา 2 งวด ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ทำงานให้จำเลยได้แม้เรื่องนี้จะได้ความว่าการที่จำเลยผิดนัดชำระค่าจ้างนั้น จำเลยได้เคยชี้แจงให้โจทก์ทุกคนทราบถึงความจำเป็นแล้วก็ตาม แต่ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่จะไม่จ่ายค่าจ้าง อีกทั้งเมื่อมีการเจรจาถึงเรื่องค่าจ้างที่ค้าง จำเลยก็ไม่อาจกำหนดเวลาชำระค่าจ้างให้เสร็จคราวเดียวกันทั้ง 2 งวดได้ เห็นได้ว่า หากโจทก์ทำงานให้จำเลยต่อไปก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าทำงานให้แล้ว โจทก์จะได้รับค่าจ้าง อีกประการหนึ่งการที่โจทก์ได้หยุดงานก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้เตรียมกันมาก่อน สาเหตุที่หยุดงานเพราะจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ เมื่อทุกคนต่างเดือดร้อนเรื่องการเงินจึงพร้อมใจกันหยุดงานโดยมิได้นัดหมาย อันเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะทำได้ หาใช่เป็นนัดหยุดงานเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์บัญญัติไว้ไม่ หากแต่ถือได้ว่าเป็นการไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานตามปกติได้ เนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ การนัดหยุดงานของโจทก์จึงไม่ต้องแจ้งให้จำเลยและพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบตามกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยจะเสียหายเนื่องจากการหยุดงานของโจทก์ ก็หาใช่เรื่องที่โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้

พิพากษายืน

Share