คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5003/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ที่ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(10) นั้น หาได้ระบุไว้ในคำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ ถือได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์คัดค้านในประเด็นนี้แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในประเด็นที่ได้สละแล้วมาฟ้องต่อศาลได้อีก แม้จำเลยจะมิได้ให้การและอุทธรณ์ในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จากการตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่ของจำเลยพบว่าโจทก์ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว2 ครั้ง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์แต่เมื่อโจทก์เพิ่งจะกระทำความผิดในเรื่องไม่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบเป็นครั้งแรกและโจทก์ได้จัดทำรายงานภาษีขายและภาษีซื้อสำหรับเดือนภาษีพิพาทถูกต้อง ทั้งกรณีดังกล่าวจะต้องเสียเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(10) หรือไม่ยังเป็นปัญหาซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยเองก็มีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ ผู้ไม่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอากรเยี่ยงโจทก์ย่อมยากจะเข้าใจว่าจะต้องเสียเบี้ยปรับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ประกอบกับโจทก์ก็ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่ของจำเลย เป็นอย่างดีและยินยอมเสียภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมิน ได้เรียกเก็บในชั้นแรก การที่จะให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามจำนวน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้กำหนดมา ย่อมหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งรูปคดี โดยให้ลดเบี้ยปรับลง คงให้โจทก์เสียเพียงร้อยละ 25 ของเบี้ยปรับที่ถูกเรียกเก็บ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และขอให้งดเบี้ยปรับ หากศาลไม่งดเบี้ยปรับก็ขอให้ลดเบี้ยปรับ คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 1ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบมาและไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดประกอบกิจการค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี 2535 ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยออกตรวจการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ ปรากฎว่าในเดือนภาษีกรกฎาคมและสิงหาคม 2537 โจทก์ขายสินค้าโดยไม่จัดทำใบกำกับภาษีขายและไม่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 86 และ87(3) ตามลำดับ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์ชำระส่วนที่ขาดสำหรับเดือนภาษีกรกฎาคมและสิงหาคม2537 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 และ 3 เว้นแต่เบี้ยปรับตามมาตรา 89(10) แห่งประมวลรัษฎากร ให้รอการอนุมัติจากกรมสรรพากรเนื่องจากโจทก์มีหนังสือขอให้เจ้าพนักงานประเมินงดเบี้ยปรับส่วนนี้ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 70 โจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งไปข้างต้นตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 และ 4ครั้นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะเบี้ยปรับดังกล่าวโดยลดให้คงให้โจทก์เสียเพียงร้อยละ 30 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 888,959 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 และ 4 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 68และ 69 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 58 และ 59 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในชั้นนี้ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงไร ในข้อนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าการไม่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87(3) นั้น ไม่ถือว่าเป็นการขายเหมือนเช่นกรณีภาษีการค้าที่ถูกยกเลิกไปแล้วเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อาจประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้ได้ เมื่อไม่มีเงินภาษีที่จะต้องเสียก็ไม่มีเงินเบี้ยปรับเกิดขึ้น ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องเสียเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(10) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 86/13 เสียเบี้ยปรับในกรณีและตามอัตราดังต่อไปนี้ มิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือ มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงานหรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้องเห็นว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของโจทก์หาได้ระบุไว้ในคำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ ถือได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์คัดค้านในประเด็นนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในประเด็นที่ได้สละแล้วมาฟ้องต่อศาลได้อีก แม้จำเลยจะมิได้ให้การและอุทธรณ์ในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ปัญหาต่อไปมีว่า มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์หรือไม่ในข้อนี้ได้ความจากการนำสืบของจำเลยว่า จากการตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่ของจำเลยพบว่าโจทก์ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามได้ความจากคำเบิกความของนางสาวเพ็ญศรี อัจจิมารังษี พยานจำเลยเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบภาษีของโจทก์ว่า โจทก์เพิ่งกระทำความผิดในเรื่องไม่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบเป็นครั้งแรกเท่านั้นและโจทก์ได้จัดทำรายงานภาษีขายและภาษีซื้อสำหรับเดือนภาษีพิพาทถูกต้อง ทั้งกรณีดังกล่าวจะต้องเสียเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(10) หรือไม่ ยังเป็นปัญหาซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยเองก็มีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ ผู้ไม่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอากรเยี่ยงโจทก์ย่อมยากจะเข้าใจว่าจะต้องเสียเบี้ยปรับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ประกอบกับโจทก์ก็ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีของเจ้าหน้าที่ของจำเลยเป็นอย่างดีและยินยอมเสียภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกเก็บในชั้นแรกที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามจำนวนซึ่งเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้กำหนดมาย่อมหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งรูปคดี โดยให้ลดเบี้ยปรับลง คงให้โจทก์เสียเพียงร้อยละ 25ของเบี้ยปรับที่ถูกเรียกเก็บ รวมเป็นเงิน 222,239 บาทอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 9122/5/100962 และเลขที่ 9122/5/100963 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 9122/5/100090 และเลขที่ 9122/5/100091 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2540 โดยให้โจทก์เสียเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 222,239 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share