คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
ส่วนคำขอในส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองจริง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เงินที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์ทั้งสองสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา 91, 341, 343 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์ทั้งสองคนละ 496,267.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินคนละ 430,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยมิได้ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม)) ประกอบมาตรา 341 (ที่ถูก มาตรา 341 (เดิม)), 83 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 หักด้วยเงิน 170,000 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้รับชำระจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 หักด้วยเงิน 170,000 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้รับชำระจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันจะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ลักษณะของการหลอกลวงที่แสดงออกด้วยข้อความเท็จนั้น ประการสำคัญจักต้องมีเจตนากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่ว ๆ ไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชน หรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ หรือกระทำด้วยประการใดโดยมุ่งหมายให้แพร่หลายทั่วไปในหมู่ประชาชน แม้กระทั่งเป็นการบอกต่อ ๆ กันไปปากต่อปากดังที่โจทก์ทั้งสองแก้ฎีกาก็ตาม แต่ในกรณีของโจทก์ทั้งสอง เป็นเรื่องที่นางอรุณีรับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของนางอรุณีแนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวในพฤติการณ์อย่างไร เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตามคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2559 โจทก์ทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ต่อไป เท่ากับว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย ฉะนั้น การที่ได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงว่า เมื่อนางอรุณีได้รับคำแนะนำจากจำเลยที่ 3 แล้ว นางอรุณีจึงไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้าน เพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจโดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง จึงเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูล แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็มีคำขอให้ลงโทษมาด้วย ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ โดยยกฟ้องโจทก์ทั้งสองในฐานความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 และเมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ทั้งสองจึงต้องร้องทุกข์หรือฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ได้ความตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 ดังนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ตามที่กฎหมายบัญญัติ คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อสู้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้ออื่นนอกจากนี้ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย คำขอในส่วนแพ่งจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งการพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่โจทก์ทั้งสองมิได้ร้องทุกข์หรือฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความนั้น เป็นการขาดอายุความเฉพาะที่จะดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ในคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อต่อสู้ใด ๆ เท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง และไม่โต้แย้งว่ามีหนี้ที่ต้องชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดนั้นอยู่จริง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/39 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1 (4) ซึ่งสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ตามมาตรา 1 (14) โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอ้างว่า จำเลยที่ 2 สามีจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ สามารถฝากบุคคลเข้าทำงานได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามตำแหน่งที่สอบและเข้าสอบเป็นพิธี ซึ่งเป็นความเท็จ เงินที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์ทั้งสองสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีส่วนอาญา แต่ในคดีส่วนแพ่งให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share