แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลเดิมแยกลงโทษจำเลยเรียงกะทง และจำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้นศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกความผิดกะทงที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ลักษณอุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัย เทียบฎีกาที่ 290/2476 พ.ร.บ.ฆ่าโคกระบือ ฯ ร.ศ.119 ม.18-20
ย่อยาว
ศาลเดิมตัดสินว่า ง.น. จำเลยผู้ร้ายลักกระบือของ ว. จำคุกคนละ ๑ ปี ๖ เดือนตามมาตรา ๒๙๔ ย.จำเลยรับกระบือของโจรรายนี้จำคุก ๑ ปี ตามม.๓๒๑ น.ย. จำเลยฆ่ากระบือรายนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับคนละ ๓๐ บาท เพิ่มโทษ น.ตาม ม.๗๒ อีก ๑ ใน ๓ รวมเป็นโทษจำคุก น. ๒ ปีปรับ ๔๐ บาท
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์ไม่มีพะยานรู้เห็นในเวลากระบือหายและกระบือตัวที่ น.ย. จำเลยฆ่าก็ไม่ใช่กระบือของ ว. แม้คดีนี้ ย. จำเลยรับว่าฆ่ากระบือโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ลงโทษไม่ได้ เพราะเป็นกระบือคนละตัวกับทีโจทก์ฟ้องจึงตัดสินยกฟ้องโจทก์ทุกกะทง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ว่าคดีไม่พอลงโทษจำเลยฐานลักกระบือแลรับของโจรและได้กล่าวไว้ด้วยว่ากระบือตัวที่ถูกฆ่านี้เป็นคนละตัวกับของ ว. ที่ถูกผู้ร้ายลักไป จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในข้อที่ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานลักทรัพย์แลรับของโจร ส่วนข้อที่ศาลเดิมลงโทษ น.ย.ฐานฆ่ากระบือโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จำเลยอุทธรณ์ไม่ได้ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ลักษณอุทธรณ์ พ.ศ.๒๔๗๓ มาตรา ๓ ซึ่งเป็นกฎหมายใช้อยู่ในเวลานั้นศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยถึงข้อที่ศาลเดิมปรับ น.ย. ฐานฆ่ากระบือ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อที่ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานฆ่ากระบือโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อนี้ให้เป็นไปตามศาลเดิม