คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาประการหนึ่ง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการที่ยังไม่ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนอีกประการหนึ่ง ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 35,000 บาท ดังนี้ พิจารณาคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง แสดงว่าเป็นเพียงการกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ราคารถยนต์กับค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รวมกันมาในกรณีที่จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนไม่ได้เท่านั้น จึงต้องกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ในกรณีที่จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ได้เพิ่มขึ้นไว้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2523 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไป 1 คัน ในราคา 80,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 18,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระรวม 23 งวดงวดละเดือนจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันและจำเลยที่ 1 ต้องคืนรถยนต์แก่โจทก์ทันที แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืนทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน40,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา35,000 บาท
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 35,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ในกรณีที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการที่ยังไม่ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาประการหนึ่ง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการที่ยังไม่ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 อีกประการหนึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับชำระราคาเต็มตามสัญญา จึงเป็นการเพียงพอกับความเสียหายของโจทก์แล้ว และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าราคาเช่าซื้อรถยนต์ 80,000 บาทจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 45,000 บาทคงเหลือค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่อีก 35,000 บาทศาลชั้นต้นได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระราคารถยนต์จำนวน35,000 บาท เต็มตามสัญญา จึงเป็นการเพียงพอกับความเสียหายของโจทก์แล้ว ถือได้ว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายในส่วนที่ได้ใช้ทรัพย์รวมเข้าไว้ในค่าเสียหายของราคารถยนต์แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองดังกล่าวเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ราคารถยนต์กับร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการที่ยังไม่ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 รวมกันมาในกรณีที่จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ไม่ได้เท่านั้นแต่ในกรณีที่จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนหน้านั้นอีกส่วนหนึ่งด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการที่ยังไม่ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหายส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้รับความเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการที่ยังไม่ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2524 เป็นต้นมาโจทก์เรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองเดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันที่ 10 เมษายน 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์หรือใช้ราคาแก่โจทก์แล้วเสร็จค่าเสียหายดังกล่าวในส่วนที่นับถึงวันฟ้อง (วันที่ 3 มีนาคม 2531)โจทก์ขอคิดเพียง 40,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จเป็นการเรียกค่าเสียหายส่วนนี้มาสูงเกินสมควรไป เห็นสมควรกำหนดให้เหมาะสมโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้น 20,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่โจทก์ขาดประโยชน์ จากการที่ยังไม่ได้รถยนต์คืนก่อนนั้นเป็นเงิน 20,000บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share