คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาที่แน่นอนจึงไม่ใช่กรณีที่ไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 1 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ได้ การส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคม 2534 ให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยวิธีปิดประกาศหน้าศาล จึงเป็นการแจ้งวันนัดที่ไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลย่อมไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1ได้ทราบคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันดังกล่าว แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 รับว่าได้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่1 กรกฎาคม 2534 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งเดิม โดยให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบหรือได้ฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 จึงชอบแล้วไม่มีเหตุต้องดำเนินกระบวนพิจารณาแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 มาฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดใหม่ การอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาให้คู่ความฟังนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละรายเป็นรายบุคคลไป หากเป็นการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาให้คู่ความรายใดฟังเป็นการไม่ชอบก็มีผลเฉพาะคู่ความรายนั้น ๆ ไม่มีผลถึงการอ่านให้คู่ความรายอื่นที่ได้ฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยชอบแล้ว สิทธิในการอุทธรณ์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละรายไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง จะถือตามสิทธิอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,336,580 บาท พร้อมดอกเบี้ยและโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้แล้ว 2 ครั้งซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ทั้งจำเลยทั้งสามร่วมกันแถลงยอมรับในวันสืบพยานจำเลยว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพฤติการณ์ที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ไม่ติดใจสืบพยานจำเลยอีกต่อไป หากถึงวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาจำเลยทั้งสามไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ก็ให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป และเมื่อถึงวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา จำเลยทั้งสามมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้น ดังนี้ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การ
ระหว่างการพิจารณาสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง แต่ขอให้ศาลชั้นต้นนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 เพื่อจำเลยทั้งสามจะดำเนินการชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์เสร็จสิ้น หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งและคำพิพากษาต่อไป ศาลชั้นต้นอนุญาต ถึงวันนัดจำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล จำเลยที่ 2 และที่ 3ยื่นคำร้องขอเลื่อนการนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาออกไปอีกนัดหนึ่งเพราะยังไม่สามารถหาเงินไปชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคม2534 และได้สั่งให้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยวิธีปิดประกาศหน้าศาล ครั้นถึงกำหนดนัดวันที่ 26 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3มาศาล จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนอีก ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามสำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควรโดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งดังกล่าวให้ทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังและให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยชอบแล้ว
ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าการส่งหมายนัดฟังคำสั่งให้จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดประกาศหน้าศาลเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งและให้สั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายไว้ชั่วคราวก่อน ศาลชั้นต้นสั่งให้ยกคำร้อง วันที่ 16 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอีกว่าการส่งหมายนัดฟังคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไม่ชอบจำเลยที่ 1 เพิ่งทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2534 ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2534และขอให้นัดจำเลยที่ 1 มาฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 แล้วและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบหรือได้ฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2534และให้ยกเลิกคำสั่งเดิมที่ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบหรือฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2534 ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไปถึงวันที่9 สิงหาคม 2534
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและคำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่นัดฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดใหม่
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 9 สิงหาคม 2534 ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วม จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ภายในอายุความอุทธรณ์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สิทธิในการยื่นอุทธรณ์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคนมิใช่กรณีความรับผิดร่วมกัน ซึ่งแม้จำเลยคนใดจะไม่อุทธรณ์ก็มีผลถึงจำเลยร่วมคนอื่นได้ ดังนั้น เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วจะขยายระยะเวลาอีกไม่ได้ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาแน่นอน สามารถส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ แต่ศาลชั้นต้นปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ทราบวันนัดดังนั้น การอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2534จึงไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งหมายนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วดำเนินการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่จะถือว่า จำเลยที่ 1ทราบและฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2534โดยไม่ได้เพิกถอนการอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่ผิดระเบียบไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาที่แน่นอนจึงไม่ใช่กรณีที่ไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 1ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ได้ การส่งหมายแจ้งวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคม 2534 ให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยวิธีปิดประกาศที่หน้าศาลจึงเป็นการแจ้งวันนัดที่ไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ก็รับว่าได้ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งเดิมที่ให้ถือว่าจำเลยที่ 1ได้ทราบหรือฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม2534 แต่ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบหรือได้ฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุต้องดำเนินกระบวนพิจารณาแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 มาฟังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดใหม่
มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการอ่านคำสั่งในวันที่ 26 มีนาคม 2534แล้ว จะมีผลถึงการอ่านคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังด้วยหรือไม่โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะจำเลยร่วมโดยมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีและมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2534 ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยร่วมคนอื่นด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดภายในอายุอุทธรณ์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ด้วยศาลฎีกาเห็นว่า การอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาให้คู่ความฟังนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละรายเป็นรายบุคคลไป หากเป็นการอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาให้คู่ความรายใดฟังเป็นการไม่ชอบก็มีผลเฉพาะคู่ความรายนั้น ๆ ไม่มีผลถึงการอ่านให้คู่ความรายอื่นที่ได้ฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยชอบแล้ว สิทธิในการอุทธรณ์เป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละรายไป จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง จะถือตามสิทธิอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายพิทักษ์วรจารุพงค์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,336,580 บาท พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 และ 27พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันแถลงยอมรับว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง และเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพฤติการณ์ที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริงไม่ติดใจสืบพยานจำเลยอีกต่อไปหากถึงวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา จำเลยทั้งสามไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ก็ให้ศาลพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่ง ตามรูปคดีต่อไป และปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา จำเลยทั้งสามมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share