คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4388/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิด แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองเด็กโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เด็กถูกล่อลวงไปเพื่อกระทำอนาจารหรือเพื่อกระทำชำเรา
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 ชักชวนล่อลวงผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้เสียหายที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์เรียกให้ไปหาที่วัด แล้วแยกกันเดินผ่านกุฏิเจ้าอาวาสไปทางซ้ายและขวาไปที่กุฏิจำเลยที่ 2 แล้วถูกจำเลยทั้งสองกระทำชำเราที่กุฏิจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 279, 283 ทวิ, 317
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่, 279 วรรคแรก (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่, 279 วรรคแรก (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร กับฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอีก 4 กระทง จำคุกกระทงละ 8 เดือน ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร กับฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 รวม 4 กระทง กระทงละ 4 ปี ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง ฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร กับฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 37 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุกจำเลยที่ 1 อีก 4 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวม 24 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุกจำเลยที่ 1 อีก 4 กระทง กระทงละ 3 ปี รวม 12 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 49 ปี 36 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 37 ปี 12 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 รวมแล้วให้ลงโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคท้าย ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารอีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 8 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุกคนละ 6 ปี ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร กับฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 8 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 เดือน เมื่อรวมโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 43 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กหญิง ฟ. ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของนาย ค. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นปู่ ขณะเกิดเหตุคดีนี้ตามฟ้องผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปี ไม่ได้เรียนหนังสือ พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 และนาง ท. ซึ่งเป็นย่า ซึ่งอยู่ติดกับกำแพงวัด น. ที่จำเลยทั้งสองบวชเป็นพระอยู่ที่วัดดังกล่าว วันที่ 4 ตุลาคม 2559 ผู้เสียหายที่ 2 พาผู้เสียหายที่ 1 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน วันที่ 10 ตุลาคม 2559 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 50,000 บาท และวันที่ 11 ตุลาคม 2559 จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 8,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิด แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองเด็กโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เด็กถูกล่อลวงไปเพื่อกระทำอนาจารหรือเพื่อกระทำชำเรา ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปี ขณะเบิกความผู้เสียหายที่ 1 อายุ 15 ปี แม้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 กระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 แลกหมายเลขโทรศัพท์กับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์เรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปหาแล้วกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยในวันที่ 23 กันยายน 2559 ขณะจำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 ช่วยดูต้นทางให้ และในวันที่ 28 กันยายน 2559 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า ผู้เสียหายที่ 1 จะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยทั้งสองที่ขณะเกิดเหตุบวชเป็นพระซึ่งย่อมได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายที่ 1 ด้วย หากเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายที่ 1 จะเบิกความเช่นนั้นเพราะมีแต่จะนำความอับอายและเสื่อมเสียมาสู่ตน เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความรับว่ารู้จักกับผู้เสียหายที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2559 เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 มาดูเพื่อนปฏิบัติธรรมที่วัด จำเลยที่ 1 เรียกให้ขึ้นมาฟังเทศน์ หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 1 ทะเลาะกับเด็กในหมู่บ้าน จำเลยที่ 1 สงสัยว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นใคร จึงสอบถามเด็กที่มาร่วมทำวัตรทำให้รู้ประวัติความเป็นมาของผู้เสียหายที่ 1 วันที่ 16 กันยายน 2559 จำเลยที่ 1 ถามย่าของผู้เสียหายที่ 1 ว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้เรียนหนังสือหรือไม่ เมื่อทราบว่าไม่ได้เรียน จำเลยที่ 1 จึงเสนอตัวว่าจะพาไปฝากเข้าโรงเรียนโดยจำเลยที่ 1 ขับรถเก๋งพาผู้เสียหายที่ 1 ไปดูโรงเรียนตามลำพังและจำเลยที่ 1 แลกหมายเลขโทรศัพท์กับผู้เสียหายที่ 1 ดัวย พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 สนใจในตัวผู้เสียหายที่ 1 มาตั้งแต่แรก จึงเสนอตัวจะพาไปฝากเข้าโรงเรียน และยังขับรถเก๋งพาผู้เสียหายที่ 1 ไปดูโรงเรียนตามลำพังและแลกหมายเลขโทรศัพท์กับผู้เสียหายที่ 1 ด้วย พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนอกจากจะไม่เหมาะสมแก่การเป็นพระแล้ว ยังทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีน้ำหนักให้รับฟังมากยิ่งขึ้นด้วย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการอาศัยความมีประสบการณ์ทางเพศที่มากกว่าเร้าอารมณ์กระตุ้นความต้องการทางเพศของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 14 ปี จนถูกล่อลวงไปกระทำอนาจารและกระทำชำเรา นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้เป็นยุติว่า หลังเกิดเหตุบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 50,000 บาท ยิ่งทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ 1 ชักชวนล่อลวงผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง อันเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 ชักชวนล่อลวงผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้เสียหายที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์เรียกให้ไปหาที่วัด แล้วแยกกันเดินผ่านกุฏิเจ้าอาวาสไปทางซ้ายและขวาไปที่กุฏิจำเลยที่ 2 แล้วถูกจำเลยทั้งสองกระทำชำเราที่กุฏิจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารแล้ว สำหรับฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 11 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทนโดยบทกำหนดโทษตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง และในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง บทความผิดตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 แต่บทกำหนดโทษตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคท้าย (เดิม) จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share