คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5009/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 วินิจฉัยอาการผิดพลาดเนื่องจากโจทก์มิได้ตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่เป็นการตั้งครรภ์ภายในมดลูกและเป็นภาวะที่แท้งบุตรไม่ครบ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการรักษาด้วยการขูดมดลูกหรือวิธีการอื่นโดยไม่จำต้องผ่าตัดตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กรณีจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยทางด้านสูตินรีเวชแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประการอื่นประกอบด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายด้วยแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ที่ให้ไว้ก็ตาม กรณีย่อมไม่อาจถือว่าแพทย์ผู้นั้นกระทำประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ของโจทก์ตามความรู้ความสามารถโดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเหมาะสมกับสภาวการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 เมษายน 2557) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวมจำนวน 10,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต่อศาลในนามโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพยาบาลและดำเนินธุรกิจรักษาคนไข้เพื่อแสวงหากำไร โดยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาล พ. 2 จำเลยที่ 2 เป็นสูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เวลา 12 นาฬิกา โจทก์ซึ่งเป็นพยาบาลและเคยทำงานที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ได้ตรวจร่างกายด้วยตนเอง ในเบื้องต้นพบว่าตั้งครรภ์ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีอาการปวดท้องน้อยมานานประมาณ 1 วัน และมีเลือดออกทางช่องคลอด จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยก่อนทำการรักษาจำเลยที่ 2 ได้ซักถามอาการเจ็บป่วยและประวัติการรักษาของโจทก์ โจทก์แจ้งว่ามีอาการปวดท้องมากมา 1 วัน จำเลยที่ 2 ซักประวัติเพิ่มเติมทางนรีเวช โจทก์แจ้งว่าเคยมีบุตรมาแล้ว 1 คน เคยแท้งบุตร 1 ครั้ง จากการสอบถามประวัติการมีประจำเดือน โจทก์แจ้งว่าประจำเดือนมาวันแรกของครั้งสุดท้ายประมาณกลางเดือนมิถุนายน หากนับวันที่หมดประจำเดือนและมาพบจำเลยที่ 2 เป็นเวลาประมาณ 7 สัปดาห์ จำเลยที่ 2 ได้ให้โจทก์นอนราบบนเตียงแล้วตรวจสภาพทั่วไปโดยใช้มือกดบริเวณท้องน้อย โจทก์แจ้งว่าเจ็บบริเวณท้องน้อย เจ็บมากที่ตำแหน่งท้องน้อยด้านซ้าย จำเลยที่ 2 สอบถามเพิ่มเติมว่า นอกจากปวดท้องน้อยแล้วมีอาการอื่นหรือไม่ โจทก์แจ้งว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดและทำการตรวจปัสสาวะด้วยตนเองพบว่าโจทก์ตั้งครรภ์ จากนั้นจำเลยที่ 2 ตรวจร่างกายโจทก์ทางนรีเวชโดยให้ขึ้นเครื่องอุปกรณ์ที่มีขาหยั่งสำหรับตรวจภายในของสตรี พบว่าเมื่อใส่คีมปากเป็ดเข้าไปเห็นว่ามีเลือดสดอยู่ในช่องคลอดในปริมาณมาก ไม่เห็นติ่งเนื้อหรือก้อนที่ผิดปกติที่ปากมดลูก ส่วนการใช้มือคลำพบว่าเมื่อกดที่มดลูกโจทก์มีอาการเจ็บสะดุ้งที่มดลูก หากตรวจโดยใช้มือคลำต่อไปอาจได้ผลที่ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 2 จึงให้รังสีแพทย์ตรวจอัลตราซาวด์บริเวณช่องท้องน้อยช่วงล่างและอุ้งเชิงกรานของโจทก์ รังสีแพทย์รายงานว่าไม่พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก แต่พบก้อนเนื้องอก 2 ก้อน มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1.6 และ 2.5 เซนติเมตร อยู่ที่บริเวณผนังด้านหลังมดลูก ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง และพบว่ามีถุงน้ำบริเวณปีกมดลูกข้างซ้ายขนาด 9.2 คูณ 3.7 เซนติเมตร ขนาดมดลูกโตขึ้นเล็กน้อย วัดได้ 10.1 คูณ 5.3 คูณ 6.4 เซนติเมตร เนื่องจากผลการตรวจอัลตราซาวด์ไม่พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก แต่โจทก์แจ้งว่าได้ตรวจปัสสาวะพบว่าตั้งครรภ์ จำเลยที่ 2 สันนิษฐานว่าครรภ์ของโจทก์น่าจะมีอายุประมาณ 7 สัปดาห์ และสงสัยว่าโจทก์จะตั้งครรภ์ที่บริเวณใด จึงรับโจทก์เข้ารักษาในโรงพยาบาลและให้เจาะเลือดโจทก์เพื่อตรวจหาฮอร์โมนการตั้งครรภ์ โดยให้งดน้ำ อาหารและให้น้ำเกลือแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้รับผลการตรวจว่า ระดับฮอร์โมนโจทก์อยู่ในระดับ 4,480 มิลลิอินเตอร์เนชั่นแนลยูนิตต่อมิลลิลิตร แล้วจำเลยที่ 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ตั้งครรภ์นอกมดลูกที่บริเวณปีกมดลูกด้านซ้ายเนื่องจากตรวจพบถุงน้ำร่วมกับมีเนื้องอกที่มดลูกด้วย และแนะนำว่าจำเป็นต้องทำการผ่าตัดโดยด่วน โดยต้องตัดรังไข่ข้างซ้ายออก รวมทั้งควรผ่าตัดมดลูกออกไปในคราวเดียวกันด้วย โจทก์เชื่อและให้ความยินยอมตามคำแนะนำของจำเลยที่ 2 ต่อมาเวลา 16 นาฬิกา วันเดียวกัน จำเลยที่ 2 ผ่าตัดเอามดลูก ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง และรังไข่ข้างซ้ายของโจทก์ออก ภายหลังการผ่าตัดผลการตรวจชิ้นเนื้อกลับปรากฏว่า โจทก์ไม่ได้ตั้งครรภ์นอกมดลูกดังที่จำเลยที่ 2 ให้คำวินิจฉัย แต่เป็นการตั้งครรภ์ภายในมดลูกและเป็นภาวะที่แท้งบุตรไม่ครบเนื่องจากพบเศษของรกในโพรงมดลูก ส่วนถุงน้ำที่บริเวณปีกมดลูกข้างซ้ายนั้นเป็นเพียงช็อคโกแลตซีสต์ คือ ถุงน้ำจากการที่เยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ ส่วนที่มดลูกพบว่าเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่โดยไปเจริญในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกและรังไข่ข้างซ้าย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า จำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการตรวจและรักษาโจทก์หรือไม่ สำหรับการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ของโจทก์นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ วินิจฉัยอาการผิดพลาดเนื่องจากโจทก์มิได้ตั้งครรภ์นอกมดลูกแต่เป็นการตั้งครรภ์ภายในมดลูกและเป็นภาวะที่แท้งบุตรไม่ครบ ซึ่งอาจรักษาด้วยการขูดมดลูกหรือวิธีการอื่นโดยไม่จำต้องผ่าตัดตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็ตาม แต่ในกรณีนี้จะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาจากมาตรฐานการตรวจรักษาตามวิชาชีพทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยทางด้านสูตินรีเวชแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประการอื่นประกอบด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่ต้องการให้ผู้ป่วยนั้นได้รับความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายใด ๆ เพิ่มเติมและหายจากอาการเจ็บป่วยในที่สุดโดยเร็ว ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า แพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพทางการแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายด้วยแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ดังที่ให้ไว้ก็ตาม กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าแพทย์ผู้นั้นกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จากพยานหลักฐานตามข้อนำสืบของโจทก์ในปัญหานี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ประมาทเลินเล่อในการตรวจรักษาโจทก์หรือได้ละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติทางการแพทย์ประการอื่น นอกเสียจากข้อกล่าวหาที่ว่า การที่จำเลยที่ ๒ มิได้ทำการตรวจระดับฮอร์โมนโจทก์ซ้ำเพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรคของโจทก์ที่มีความน่าจะเป็นให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะอาการของโจทก์ที่แท้จริงในขณะนั้น สามารถเป็นไปได้ว่าอาจท้องนอกมดลูกหรือท้องตามปกติ แต่มีสภาวะแท้งคุกคามเพราะการตั้งครรภ์นอกมดลูกไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือการผ่าตัดจนกว่าจะส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ ดังนั้น การวินิจฉัยโรคของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการด่วนสรุปไปเสียก่อนจากมาตรฐานวิชาชีพ เป็นการให้คำวินิจฉัยที่ไม่ตรงกับอาการของโจทก์ที่ได้จากผลการตรวจชิ้นเนื้อ อันเป็นการปฏิบัติผิดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ของโจทก์ตามความรู้ความสามารถโดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเหมาะสมกับสภาวการณ์นั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนการรักษาอาการของโจทก์โดยตัดมดลูกด้วยนั้น โจทก์เบิกความกล่าวอ้างทำนองว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เปิดแผลผ่าตัดหน้าท้องแล้วพบว่า โจทก์ไม่ได้ตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่ตั้งครรภ์ปกติและแท้งไปแล้ว ส่วนซีสต์หรือถุงน้ำที่พบเป็นช็อกโกแลตซีสต์หรือถุงน้ำจากเยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ จำเลยที่ 2 สามารถเย็บปิดแผลผ่าตัดและให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปนั้น และเมื่อสิ่งที่พบขณะผ่าตัดต่างจากสิ่งที่ได้ให้ข้อมูลไว้ในเบื้องต้นเป็นเหตุให้โจทก์ต้องแท้งลูกและสูญเสียโอกาสในการตั้งครรภ์ในอนาคตได้อีก การให้ข้อมูลของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง ไม่ถือว่าโจทก์ให้ความยินยอมในการรักษาโดยตัดมดลูก แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติข้างต้นแล้ว การผ่าตัดของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำให้โจทก์แท้งบุตร และได้พบก้อนเนื้องอกอยู่ในมดลูกของโจทก์ซึ่งเกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่โดยไปเจริญแทรกเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกจริง แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ตรวจและวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ถูกต้องตรงกับลักษณะทางพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในมดลูกและสอดคล้องกับอาการเจ็บป่วยของโจทก์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น จำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันว่า สาเหตุที่ตัดมดลูกของโจทก์เนื่องจากมีเนื้องอกที่มดลูก การผ่าตัดดังกล่าวเป็นการรักษาที่ดีที่สุดที่โจทก์จะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกและทำให้อาการปวดประจำเดือนของโจทก์หายไป และได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่า ได้ตรวจพบว่าโจทก์มีเนื้องอก 2 ก้อน ที่มดลูก จึงได้แนะนำโจทก์ว่าเมื่อจะทำการผ่าตัดถุงน้ำด้วยการเปิดช่องท้องด้านหน้าแล้ว ยังได้แนะนำโจทก์ว่าจะตัดเฉพาะเนื้องอกออกหรือจะตัดมดลูกที่มีเนื้องอกแซมอยู่ออก โจทก์แจ้งว่าโจทก์มีอาการปวดประจำเดือนทุกเดือนและไม่ต้องการมีบุตรแล้วให้ตัดมดลูกที่มีเนื้องอกออกเลย และได้แนะนำว่าโจทก์ควรปรึกษาสามีด้วย โดยให้แจ้งสามีทราบถึงแนวทางการรักษาที่จำเลยที่ 2 แนะนำไป เห็นโจทก์ออกไปโทรศัพท์นอกห้องตรวจแล้วกลับมาบอกว่าสามียินยอมให้ตัดมดลูกออกได้ นายแพทย์ พ. เบิกความสนับสนุนคำของจำเลยที่ 2 ว่าก่อนฟ้องคดีนี้ พยานได้เข้าร่วมประชุมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง พยานได้ถามโจทก์ว่าหากมีการแท้งบุตรก่อนที่จะทำการผ่าตัดจะให้ตัดมดลูกหรือไม่ โจทก์แจ้งว่าให้ตัดมดลูกได้ ซึ่งโจทก์เองก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่า โจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านพยาบาลศาสตร์ ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ และปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจสุขภาพ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ เคยรับการรักษาผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูก รวมทั้งซีสต์ขณะเป็นพนักงานโรงพยาบาล พ. 3 และขณะโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลฟรี และโจทก์ได้พูดกับนายแพทย์ พ. ว่าถ้าโจทก์ท้องนอกมดลูกก็ยังคงยืนยันให้ตัดมดลูก และยังพูดว่าถ้าโจทก์แท้งบุตรก็ยังคงยืนยันให้ตัดมดลูกและไม่ต้องการมีบุตรแล้ว อันเป็นการเบิกความเจือสมคำพยานของจำเลยทั้งสอง ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อว่า นอกจากโจทก์ตัดสินใจเลือกรักษาโดยวิธีตัดมดลูกเพราะมีเนื้องอกดังที่จำเลยที่ 2 วินิจฉัยและให้คำแนะนำแล้ว เหตุผลอีกประการหนึ่งที่โจทก์ยินยอมให้ตัดมดลูกก็เพราะโจทก์เองไม่ต้องการที่จะมีบุตรอีก ประกอบกับการที่โจทก์มีบุตรมาแล้ว 1 คน และแท้งบุตรมาก่อนแล้ว 1 ครั้ง รวมทั้งยังเคยรับการผ่าตัดเนื้องอกและซีสต์ในมดลูกมาก่อนอีกด้วย นอกจากนี้ขณะเกิดเหตุโจทก์มีอายุ 39 ปี จบปริญญาตรีด้านพยาบาลศาสตร์และปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจสุขภาพ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ เคยทำงานโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2554 หรือ 2555 นับเป็นผู้ที่พร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อน ทั้งการตัดสินใจยอมให้ตัดมดลูกเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดต่อตัวโจทก์และครอบครัวเพราะจะทำให้ไม่อาจมีบุตรสืบสกุลได้อีก หากเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างย่อมเป็นการยากที่วิญญูชนเยี่ยงโจทก์จะให้ความยินยอมโดยไม่มีทางเลือกและได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอเสียก่อน ยิ่งโจทก์ได้ปรึกษาสามีก่อนตัดสินใจด้วยแล้ว จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 2 ได้แจ้งข้อมูลและทางเลือกในการรักษาภาวะเนื้องอกที่มดลูกตามมาตรฐานของการรักษาให้แก่โจทก์โดยถูกต้องก่อนที่โจทก์จะตัดสินใจให้ความยินยอมในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ถือว่าการที่จำเลยที่ 2 ตัดมดลูกของโจทก์ออกตามความยินยอมให้รักษาของโจทก์นั้นไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองตามที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share