แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ได้บังคับว่า ถ้าคู่สมรสไม่หย่าขาดจากกันจะทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อสามีภริยาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกัน หลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้วย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะ สัญญาดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 ตราบใดที่สามีภริยายังมิได้บอกล้าง ย่อมต้องถือว่าสัญญาดังกล่าวใช้บังคับได้อยู่เสมอซึ่งมีผลให้เป็นการแยกสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1487 ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายและต่างฝ่าย ต่างมีกรรมสิทธิ์มีอำนาจจัดการและจำหน่ายสินส่วนตัวนั้นได้โดยลำพังตามมาตรา 1486 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสซึ่งมิใช่กรณีบอกล้างโมฆียะกรรม แต่เป็นการขอบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1461นั้น โดยสภาพเป็นการเฉพาะตัวของสามีหรือภริยาเท่านั้น เมื่อฝ่ายใดถึงแก่กรรม สิทธิบอกล้างย่อมระงับสิ้นไป ไม่ตกทอดไปยังทายาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย ทายาทไม่มีสิทธิบอกล้างได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2517)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายชุน แซ่เอ็ง กับนางเน้ย แซ่ตัง หรือสุพรรณวัฒน์ นายชุน แซ่เอ็ง ถึงแก่กรรม แล้วนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ ได้จำเลยเป็นสามีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ จำเลยได้บังคับขู่เข็ญให้นางเน้ย สุพรรณวัฒน์ เซ็นใบมอบอำนาจโอนที่ดินจำนวน ๑๓ โฉนดให้จำเลย ด้วยความกลัวและเกรงใจ นางเน้ย สุพรรณวัฒน์ จึงได้ลงนามในใบมอบอำนาจให้ต่อมานางเน้ย สุพรรณวัฒน์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๑โดยก่อนถึงแก่กรรม นางเน้ย สุพรรณวัฒน์ ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้โจทก์และนางลัดดา นัยเนตร คนละส่วนเท่า ๆ กัน จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินและดอกผลของทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ อันเป็นมรดกของนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ และให้จำเลยใช้ค่าดอกผลปีละ ๔๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจัดการให้เป็นไปตามคำพิพากษา
จำเลยให้การว่า จำเลยกับนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ เป็นสามีภริยากันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ จำเลยกับนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ ได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งแยกทรัพย์สินบริคณห์ที่มีอยู่ให้เป็นสัดส่วนของแต่ละฝ่ายโดยเด็ดขาดซึ่งนางเน้ยได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของตนให้แก่โจทก์ นางลัดดา นัยเนตร และผู้มีชื่อไปในวันนั้นเอง และโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินจากนางเน้ยสุพรรณวัฒน์ ไปทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนของจำเลยและบางรายการอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น จำเลยมิได้เกี่ยวข้องพินัยกรรมของนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ ท้ายฟ้อง หากทำขึ้นก็เนื่องด้วยการหลอกลวงและฉ้อฉลของโจทก์และนางลัดดา นัยเนตร หากจะฟังว่าพินัยกรรมใช้ได้ นางเน้ย สุพรรณวัฒน์ ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ที่มิใช่เป็นของตนให้ผู้อื่น พินัยกรรมส่วนนี้จึงเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นางเน้ย สุพรรณวัฒน์ กับจำเลยได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันอันเป็นสัญญาระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๑ อันมีผลทำให้ทรัพย์สินระหว่างนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ กับจำเลยแยกออกจากกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๖, ๑๔๘๗ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอยู่ด้วย นางเน้ย สุพรรณวัฒน์ได้ทำพินัยกรรมไว้จริง แต่ไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมในส่วนที่ยกทรัพย์สินให้แก่ทายาทซึ่งต่างได้จดทะเบียนสิทธิในทรัพย์สินเหล่านั้นไปแล้ว เว้นแต่ข้อ ๕, ๖, ๗ ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องโจทก์บางรายการเป็นสินส่วนตัวของจำเลย บางรายการแม้เป็นสินส่วนตัวของนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ แต่ก็อยู่ในความครอบครองของผู้อื่น จำเลยมิได้เกี่ยวข้องโจทก์ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับผู้ครอบครองทรัพย์นั้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยมรณะศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ร้อยตำรวจตรีสุจิตร สุพรรณวัฒน์ เข้าเป็นคู่ความแทนแล้วพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า นางเน้ย สุพรรณวัฒน์ กับจำเลยเป็นสามีภริยากันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งใช้บังคับอยู่เดิมนั้น ก็ไม่ได้บังคับว่าถ้าคู่สมรสยังไม่หย่าขาดจากกันจะทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันไม่ได้เพราะฉะนั้นเมื่อนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ กับจำเลยทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ แล้ว สัญญาดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๑ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า สัญญาแบ่งทรัพย์สินฉบับพิพาทใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๑ ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะ ตราบใดที่สามีหรือภริยายังมิได้บอกล้างย่อมต้องถือว่า สัญญาพิพาทนี้ใช้บังคับได้อยู่เสมอ และมีผลทำให้เป็นการแยกสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๘๗ คือส่วนที่แยกออกเป็นของสามีหรือภริยาตกเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และต่างฝ่ายต่างมีกรรมสิทธิ์ มีอำนาจจัดการและจำหน่ายสินส่วนตัวนั้นได้โดยลำพังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๖
การใช้สิทธิบอกล้างของโจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอบอกล้างโมฆียะกรรมหากแต่เป็นการขอบอกล้างโดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๑ โดยเฉพาะศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่าสัญญาซึ่งสามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาดังเช่นสัญญาแบ่งทรัพย์สินฉบับพิพาทนี้ อาจเป็นเรื่องที่จัดทำขึ้นโดยมีเหตุผลอันสมควรก็ได้ หรืออาจเป็นเรื่องที่จัดทำขึ้นโดยอาศัยอารมณ์ของคู่สมรสในขณะทำสัญญาเป็นที่ตั้งก็ได้กฎหมายจึงได้บัญญัติให้เป็นสิทธิของคู่สมรสในอันที่จะบอกล้างได้เสียแม้ในระหว่างสมรสนั้นเอง หรือภายในหนึ่งปีหลังจากที่การสมรสขาดจากกัน สัญญาประเภทนี้ย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดในตัวเองว่า เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างสามีกับภริยาโดยเฉพาะ แม้ว่าผลของสัญญานี้อาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของทายาทของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายก็ตาม ดังนั้น สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวย่อมต้องถือว่าโดยสภาพเป็นการเฉพาะตัวคู่สัญญาโดยแท้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๐ เมื่อคู่สัญญาถึงแก่กรรมแล้ว สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป และไม่ตกทอดไปยังทายาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย เพราะฉะนั้น โจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทของนางเน้ย สุพรรณวัฒน์ จึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาแบ่งทรัพย์สินฉบับพิพาท
พิพากษายืน