คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2830/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่พิพาทเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่งตามคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกัน ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุตรอีกสองคน ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึด แต่มีสิทธิเพียงขอรับส่วนแบ่งของตนหลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้วเท่านั้น ผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 ที่ 3ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดนั้นอีก โดยอ้างว่าผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทคนละครึ่ง และผู้ร้องทั้งสามกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น โดยจำเลยยอมยก0กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของจำเลยให้แก่ผู้ร้องทั้งสามผู้ร้องทั้งสามจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้งแปลง จึงขอให้ศาลปล่อยที่ดินที่พิพาทให้ผู้ร้องทั้งสาม ดังนี้ คำร้องฉบับหลังในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ร้องที่ 1 ย่อมเป็นคำร้องซ้ำกับคำร้องเดิม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ส่วนคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 นั้น เป็นเรื่องจำเลยยอมให้ส่วนของจำเลยในที่ดินที่พิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นเพียงผู้เข้าสวมสิทธิในที่ดินส่วนของจำเลยเท่านั้น เมื่อผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 มาร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทโดยอ้างว่าทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ของโจทก์หรือจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยการดำเนินคดีทางร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและยกคำร้อง จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีนี้ สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดที่ 33494 ให้โจทก์ หรือให้โจทก์และบุตรมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยโอนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่งถ้าตกลงแบ่งไม่ได้ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วน ชั้นบังคับคดีโจทก์จำเลยตกลงแบ่งหรือประมูลกันเองไม่ได้ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดแบ่งเงินคนละครึ่งระหว่างโจทก์จำเลย คดีอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อขายทอดตลาดที่พิพาท นางอำไพ ทองสุขมากกับบุตรอีกสองคน ได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้นางอำไพกับบุตรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลย สำหรับโจทก์นั้นนางอำไพขอถอนฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมานางอำไพผู้เดียวได้ร้องขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยที่ดินที่พิพาท โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุตรอีกสองคนศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง คดีถึงที่สุดในชั้นฎีกา

ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยได้ร่วมกันเช่าซื้อที่ดินพิพาทจากกรมตำรวจ โดยจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ แล้วผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยได้ออกเงินผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนครบตามสัญญา ผู้ร้องที่ 1 ได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิผู้ร้องที่ 1 กับจำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคนละครึ่งต่อมาผู้ร้องทั้งสามกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น โดยจำเลยยอมยกกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของจำเลยให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้งแปลง ขอให้ศาลปล่อยที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องทั้งสาม

โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยคนละครึ่งผู้ร้องที่ 1 ไม่ได้ครอบครองที่พิพาท การที่ผู้ร้องที่ 1 ฟ้องจำเลยและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้นั้น เป็นเรื่องสมยอมกันกระทำเพื่อประวิงคดี ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคำร้องขัดทรัพย์เคลือบคลุมและเป็นคำร้องขัดทรัพย์ที่ร้องเข้ามาซ้ำกับคำร้องเดิม ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องซ้ำกับคำร้องเดิม พิพากษายกคำร้อง

ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับผู้ร้องที่ 1 นั้น ได้ร้องในคดีนี้ในประเด็นเกี่ยวกับขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทอย่างเดียวกับคำร้องเดิมว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์หรือจำเลย แต่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ร่วมกับบุตรอีกสองคน ซึ่งเป็นผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 ในคดีนี้ และในคำร้องเดิมศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ ขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ถูกยึดได้มีสิทธิเพียงขอรับส่วนแบ่งส่วนของตนหลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้วเท่านั้น ฉะนั้น ผู้ร้องที่ 1 จะร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 148(1) เพราะตามมาตรา 288 ให้ศาลพิจารณาชี้ขาดคำร้องขัดทรัพย์นั้นเหมือนคดีธรรมดา คำร้องของผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นคำร้องซ้ำ สำหรับผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 นั้นเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์จำเลยคนละครึ่งนั้นเป็นการบังคับคดีเพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกัน เมื่อจำเลยยอมให้ส่วนของตนในที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นเพียงผู้เข้าสวมสิทธิในที่ดินส่วนของจำเลยตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 มาร้องขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยการยึดทรัพย์พิพาท โดยอ้างว่าทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ของโจทก์หรือจำเลย ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยการดำเนินคดีทางร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 รูปคดีไม่จำต้องสืบพยานผู้ร้องต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share