คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13-34/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ก. ลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยในสัญญาจ้างและแทนจำเลยในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ทั้งยี่สิบสองตามที่ได้รับมอบหมาย การที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า ก. ลงลายมือชื่อและประทับตราจำเลยในสัญญาจ้างนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยทำสัญญาจัดหางานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสองทำงานก่อสร้างในสนามบินแห่งชาติสาธารณรัฐอินกูเซเทียประเทศรัสเซีย ในตำแหน่งต่าง ๆ แต่เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบสองทำงานมาได้ประมาณ1 ปี นายจ้างติดค้างค่าจ้างโจทก์แต่ละคนและขอผัดผ่อนเรื่อยมาทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบสองไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามสัญญาจัดหางานและไม่ประสงค์จะทำงานต่อไปจึงขอลาออกและเดินทางกลับประเทศไทยกรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯมาตรา 46 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานไปทำงานในต่างประเทศจะต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้จำเลยไปตั้งแต่ 75,000ถึง 85,000 บาท มากกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจัดหางานคือ 30,000 ถึง35,000 บาท แต่โจทก์ทั้งยี่สิบสองขอคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายบางส่วนโดยแนบสำเนาสัญญาจัดหางานมาท้ายฟ้อง อันพอถือได้ว่ามีคำขอให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายบางส่วนตามจำนวนในสัญญาดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์แต่ละคนตามจำนวนในสัญญาจัดหางานจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 กำหนดให้หนี้เงินที่แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อจะส่งใช้เป็นเงินไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์แต่ละคนโดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์นั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีกสิบเอ็ดสำนวน ซึ่งโจทก์ถอนฟ้องระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โดยเรียกโจทก์ทั้งยี่สิบสองสำนวนเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 17 ที่ 19 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 ที่ 28 ที่ 30 ที่ 32และที่ 33 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งยี่สิบสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายจากนายจ้างชาวสวิตเซอร์แลนด์ชื่อบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด หน่วยงานตั้งอยู่ที่สนามบินแห่งชาติสาธารณรัฐอินกูเซเทีย ประเทศรัสเซียได้ตกลงทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสองทำงานก่อสร้างสนามบินแห่งชาติสาธารณรัฐอินกูเซเทียในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ช่างควบคุมงานก่อสร้าง ช่างปูน ช่างฉาบช่างเหล็ก กรรมกร และพนักงานขับรถ อัตราค่าจ้างระหว่าง 520 ถึง850 ดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลาจ้าง 1 ถึง 2 ปี โจทก์ทั้งยี่สิบสองเริ่มเดินทางไปทำงานระหว่างเดือนกรกฎาคม 2539 ถึงเดือนพฤษภาคม2540 ระหว่างทำงานนายจ้างจ่ายค่าจ้างโดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย แล้วจำเลยจะจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์แต่ละคนอีกทอดหนึ่งโดยโอนเงินเข้าบัญชีให้ทุก 2 เดือน จนถึงเดือนสิงหาคม 2540 นายจ้างได้ค้างจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งยี่สิบสอง โจทก์ทั้งยี่สิบสองทวงถาม นายจ้างผัดผ่อนเรื่อยมา โจทก์ทั้งยี่สิบสองจึงขอลาออกเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2541 โดยนายจ้างส่งโจทก์ทั้งยี่สิบสองเดินทางกลับประเทศไทย โจทก์ทั้งยี่สิบสองทวงถามให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจนายจ้างจ่ายค่าจ้าง แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,792.24 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ที่ 2 จำนวน 4,137.57 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 3 จำนวน4,490 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 4 จำนวน 4,685.65 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ที่ 5 จำนวน 4,709 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 7 จำนวน 3,489.96ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 8 จำนวน 5,538 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 10จำนวน 5,253 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 11 จำนวน 4,156 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ที่ 13 จำนวน 4,570.61 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 17 จำนวน4,806.51 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 19 จำนวน 4,242.40 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ที่ 20 จำนวน 4,555.40 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 21 จำนวน4,180.79 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 22 จำนวน 5,120.04 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ที่ 23 จำนวน 4,128.91 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 25 จำนวน5,331.69 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 27 จำนวน 4,425.12 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ที่ 28 จำนวน 4,997.07 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 30 จำนวน4,695.20 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ที่ 32 จำนวน 3,728 ดอลลาร์สหรัฐและโจทก์ที่ 33 จำนวน 3,931.18 ดอลลาร์สหรัฐ และคืนค่าบริการในการจัดหางานให้โจทก์ทั้งยี่สิบสองบางส่วน

จำเลยทั้งยี่สิบสองสำนวนให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้รับมอบอำนาจหรือเป็นตัวแทนของบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมด จำเลยเป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และทำสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ (แบบ จง.33) กับโจทก์แต่ละคนเท่านั้น โจทก์ทั้งหมดทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด โดยตรงจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นนายจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าจ้างค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนระบุไว้ในคำฟ้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ทั้งหมดไม่เคยทำงานล่วงเวลาบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด นายจ้างไม่เคยค้างจ่ายและไม่เคยสั่งให้โจทก์แต่ละคนทำงานในวันหยุด โจทก์ทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดสำหรับค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานนั้นเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับโจทก์ทั้งหมดจัดทำขึ้นเอง เป็นเอกสารปลอม จำนวนเงินค่าบริการที่ระบุในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่อัตราที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์แต่ละคน แต่เป็นอัตราที่สูงเกินกว่าที่จำเลยเรียกเก็บตามความเป็นจริง โจทก์ทั้งหมดใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยไม่จำต้องคืนค่าใช้จ่ายและค่าบริการให้โจทก์แต่ละคนเนื่องจากโจทก์ทั้งหมดลาออกจากบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด และเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงาน โดยนายจ้างไม่ได้เลิกสัญญาจ้างหรือไม่มีงานให้ทำและไม่ใช่ความผิดของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศประมาณต้นปี 2539 จำเลยโดยนายการุณ เมธเมาลี กรรมการผู้จัดการได้ติดต่อขออนุญาตส่งโจทก์ทั้งยี่สิบสองไปทำงานก่อสร้างสนามบินแห่งชาติเมืองนาซาลาน สาธารณรัฐอินกูเซเทีย ประเทศรัสเซียหลังจากผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามระเบียบของกรมการจัดหางานแล้วจำเลยเรียกให้โจทก์ทั้งยี่สิบสองไปชำระค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานและให้ทำสัญญาจัดหางานกับจำเลยตามแบบจง.33 กับให้ทำสัญญาจ้างกับบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัดซึ่งเป็นนายจ้าง ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 กรมการจัดหางานตรวจสอบสัญญาดังกล่าวแล้ว อนุญาตให้จำเลยส่งโจทก์ทั้งยี่สิบสองเดินทางไปทำงานได้ โจทก์ทั้งยี่สิบสองเดินทางไปทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม 2539 กับเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม2540 และได้รับค่าจ้างทำงานตามปกติจนกระทั่งเดือนมกราคม 2541โจทก์ทั้งยี่สิบสองไม่ได้รับโอนเงินค่าจ้างของเดือนกันยายน 2540เป็นต้นมาจึงลาออกจากงาน โดยบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด ออกค่าใช้จ่ายให้เดินทางกลับประเทศไทย เดือนมีนาคม 2541 โจทก์ทั้งยี่สิบสองไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน เจ้าพนักงานเรียกนายการุณ เมธเมาลี กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยและโจทก์ทั้งยี่สิบสองไปไกล่เกลี่ยแต่ตกลงกันไม่ได้ แล้ววินิจฉัยว่าบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด ค้างจ่ายเงินเดือน ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดของโจทก์แต่ละคนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ตามบัญชีเอกสารหมาย ล.9 หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 และ ล.7 มีข้อความว่าบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนสจำกัด แต่งตั้งให้บริษัทจัดหางาน ซี.ซี.พี. จำกัด ซึ่งหมายถึงบริษัทจำเลย โดยนายการุณ เมธเมาลี เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการกระทำการแทนบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด ในประเทศไทย โดย (1) ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาคนงานและกระทำการแทนบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนสจำกัด ในการจัดส่งคนงานจากประเทศไทย ภายใต้กฎหมายแรงงานของประเทศไทย เพื่อทำงานที่สนามบินอินกูเซเทีย ประเทศรัสเซียและ (2) เป็นผู้มีอำนาจในการจัดหาคนงานไทย และกระทำการแทนบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด ตามที่ระบุไว้ในหนังสือแสดงความจำนงลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 26 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นเงื่อนไขการจ้าง มีสาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับการจ้างเช่นเดียวกับสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 การที่นายการุณลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยในสัญญาจัดหางานและสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 จึงเป็นการกระทำตามที่ได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัดนายจ้างตรงตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 และ ล.7เข้าลักษณะเป็นตัวแทนทำสัญญากับโจทก์ทั้งยี่สิบสองแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานตามลำพังตนเอง แม้ชื่อของนายจ้างตัวการจะเปิดเผยในสัญญาแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 824 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสองเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานให้จำเลยไปคนละ75,000 ถึง 85,000 บาท มากกว่าจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาจัดหางานตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 คือ 30,000 ถึง 35,000 บาทสัญญาจัดหางานเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ข้อ 3 กำหนดว่า จำเลยจะรับผิดชอบต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เช่น ในกรณีโจทก์เดินทางไปถึงประเทศที่จะทำงานแล้วไม่ได้งานทำ หรือมีงานทำแต่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือตำแหน่งงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานและโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานนั้น จำเลยจะจัดการให้โจทก์เดินทางกลับประเทศไทย และคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไปแล้วให้ทั้งหมดหรือเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาจ้างแล้วแต่กรณี เมื่อนายจ้างต่างประเทศไม่จ่ายค่าจ้างซึ่งกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนให้ตรงตามเวลา และค้างชำระค่าจ้างหลายเดือนติดต่อกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งยี่สิบสองไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามสัญญาจัดหางาน การที่โจทก์ทั้งยี่สิบสองไม่ประสงค์จะทำงานต่อไปและเดินทางกลับประเทศไทยจึงเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ตามสัญญาจัดหางาน กรณีไม่ใช่การลาออกหรือผิดสัญญา จำเลยจึงต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคน แต่โจทก์แต่ละคนขอคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายบางส่วนโดยแนบสำเนาสัญญาจัดหางานเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 มาท้ายฟ้อง และไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ขอคืน ทั้งปรากฏว่าจำเลยได้พยายามช่วยทวงถามเงินค่าจ้างจากนายจ้างต่างประเทศให้โจทก์ทุกรายได้รับไปบางส่วนแล้วจึงกำหนดให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์แต่ละรายตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาจัดหางานเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 4,055.57 ดอลลาร์สหรัฐ และ 33,750 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 2,521.78 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 3จำนวน 2,783.03 ดอลลาร์สหรัฐ และ 31,250 บาท โจทก์ที่ 4จำนวน 2,925.74 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 5จำนวน 3,442.05 ดอลลาร์สหรัฐ และ 32,500 บาท โจทก์ที่ 7จำนวน 2,383.20 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 8จำนวน 2,825 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน2,559.64 ดอลลาร์สหรัฐ และ 39,400 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน2,852.68 ดอลลาร์สหรัฐ และ 31,250 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน3,194.67 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน2,606.84 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 20 จำนวน3,488.50 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน2,903.26 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 22 จำนวน3,720.47 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 23 จำนวน3,241.61 ดอลลาร์สหรัฐ และ 31,250 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน3,659.64 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 27 จำนวน2,831.62 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 28 จำนวน2,601.20 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,500 บาท โจทก์ที่ 30 จำนวน2,715.08 ดอลลาร์สหรัฐ และ 31,250 บาท โจทก์ที่ 32 จำนวน2,761.42 ดอลลาร์สหรัฐ และ 30,000 บาท โจทก์ที่ 33 จำนวน2,489.66 ดอลลาร์สหรัฐ และ 31,250 บาท โดยเงินดอลลาร์สหรัฐให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มีให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนของโจทก์แต่ละคน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งยี่สิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งยี่สิบสองสำนวนอุทธรณ์ประการแรกว่า นายการุณ เมธเมาลี พยานจำเลยเบิกความว่าได้ลงนามพร้อมประทับตราของจำเลยในสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5และ ล.6 ซึ่งบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด ผู้เป็นนายจ้างได้ลงนามเป็นคู่สัญญาด้วยตนเองไว้แล้วเพื่อรับรองสัญญาจ้างดังกล่าวเพราะเป็นเอกสารที่จำเลยจะต้องยื่นต่อกรมการจัดหางานในการขออนุมัติจัดส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศตามข้อกำหนดของกรมการจัดหางานจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ้างตามสัญญาดังกล่าว สอดคล้องกับคำเบิกความของนายสุวิชชา ศิริอาภานนท์ เจ้าพนักงานจัดหางานจังหวัดนครพนม และนายวิเศษ คำไพ เจ้าพนักงานแรงงานจังหวัดนครพนม ประกอบกับจำเลยไม่ใช่สาขาของบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนสจำกัด และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 และ ล.7 ไม่ได้ระบุให้จำเลยลงนามแทนบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด โดยตรง เพียงแต่มอบอำนาจให้เฉพาะจัดหาคนงานเท่านั้นจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ละคนนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่านายการุณลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยในสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6แทนจำเลยในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัดทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ทั้งยี่สิบสองตามที่ได้รับมอบหมายโดยพิเคราะห์ข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.1 และล.7 ข้อความในหนังสือแสดงความจำนงลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์2540 และวันที่ 26 เมษายน 2539 เปรียบเทียบกับข้อความในสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 อุทธรณ์ของจำเลยอ้างคำเบิกความของพยานจำเลยและเหตุผลอื่นเพื่อให้รับฟังว่าการที่นายการุณลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยในสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 นั้น ไม่ใช่เป็นการลงลายมือชื่อทำสัญญาจ้างดังกล่าวกับโจทก์ทั้งยี่สิบสองในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทไซเบิร์ท-สตินเนส จำกัด จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่จำเลยทั้งยี่สิบสองสำนวนอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่าศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยคืนเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานให้โจทก์แต่ละคนเต็มตามจำนวนในสัญญาจัดหางานเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ซึ่งบัญญัติให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของระยะเวลาที่โจทก์แต่ละคนได้ทำงานไปแล้ว และขัดต่อคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนที่ขอให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายตามสัดส่วน เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 46 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศไม่สามารถจัดให้คนหางานเดินทางได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 38หรือในกรณีที่คนหางานไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานหรือได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานและคนหางานไม่ประสงค์ที่จะทำงานนั้น ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากคนหางานไปแล้วทั้งหมดให้แก่คนหางานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามมาตรา 38 หรือนับแต่วันที่คนหางานเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วแต่กรณี” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีคนหางานไม่สามารถทำงานได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานเพราะถูกเลิกจ้างโดยมิใช่สาเหตุจากคนหางาน ผู้รับอนุญาตต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางานไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาที่คนหางานได้ทำงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คนหางานขอรับคืน” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งหมดไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามสัญญาจัดหางานและไม่ประสงค์จะทำงานต่อไปจึงเดินทางกลับประเทศไทย กรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 46 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยจะต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายทั้งหมดและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์แต่ละคนเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้จำเลยไปตั้งแต่ 75,000 ถึง 85,000 บาท มากกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจัดหางานเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 คือ 30,000 ถึง 35,000 บาท ทั้งคดีนี้โจทก์แต่ละคนขอคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายบางส่วนโดยแนบสำเนาสัญญาจัดหางานทั้งสองฉบับมาท้ายฟ้องซึ่งพอถือได้ว่าโจทก์แต่ละคนมีคำขอให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายบางส่วนตามจำนวนในสัญญาจัดหางานดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์แต่ละคนตามจำนวนในสัญญาจัดหางาน จึงเป็นการกำหนดให้จำเลยคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายบางส่วนแก่โจทก์แต่ละคนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งยี่สิบสองสำนวนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดในคำพิพากษาว่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์แต่ละคนให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มีให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันพิพากษานั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคแรก บัญญัติว่า”ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้” และวรรคสองบัญญัติว่า “การเปลี่ยนเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาโดยกำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษาเป็นเกณฑ์นั้น จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ดังกล่าว เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนที่จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์แต่ละคนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางนั้น ไม่บังคับให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มี ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share