แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 ที่กำหนดเงินค่าทดแทนเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ไม่มีบทบัญญัติให้นำเอาราคาที่ซื้อขายก่อนและหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับที่สุดมาประกอบกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนกันในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนโดยใช้ตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นเอกชนเสียภาษีบำรุงท้องที่มาเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรวม ๔ โฉนด คือ โฉนดเลขที่ ๖๘๕, ๖๘๙, ๕๖๐๙ และ ๕๐๘๐ อยู่ที่แขวงบ้านไทร (บางระมาด) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๑ ทางราชการได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษ (ที่ถูกทางหลวงแผ่นดิน) สายพระประแดง – บางแค – ลาดบังหลวง – สุพรรณบุรี ตอนตลิ่งชัน – บางบัวทอง พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยจำเลยที่ ๓ ได้ประกาศกำหนดให้เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นจะต้องสร้างโดยเร่งด่วน ที่ดินทั้งสี่โฉนดของโจทก์ต้องถูกทางหลวงตัดผ่าน รวมเนื้อที่ประมาณ ๒๘ ไร่ ๓ งาน ๑๙.๗ ตารางวา คณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ในราคาตารางวาละ ๓๐๐ บาท ๓ โฉนด และตารางวาละ ๔๔๕ บาท ๑ โฉนด รวมเป็นเงิน ๓,๘๗๒,๒๖๓ บาท โจทก์เห็นว่าค่าทดแทนดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับและเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่ต่ำกว่าตารางวาละ ๑,๕๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๙,๓๖๑,๓๑๕ บาท จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์อีก ๑๕,๔๘๙,๐๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ (ที่ถูกวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ คือวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๑) จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๖,๒๘๒,๗๔๖.๗๐ บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ ๒๑,๗๗๑,๗๙๘.๗๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ ๒๑,๗๗๑,๗๙๘.๗๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของยอดเงิน ๑๕,๔๘๙,๐๕๒ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดี ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้น คณะกรรมการปรองดองได้พิจารณาถึงราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงราคาปานกลางของที่ดินเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยพิจารณาประกอบกับสภาพและทำเลของที่ดินโจทก์และราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมา กล่าวคือ ที่ดินทั้งสี่โฉนดโจทก์ซื้อมาในราคาเฉลี่ยตารางวาละ ๒๑๕ บาท คณะกรรมการปรองดองจึงได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยเฉลี่ยราคาตารางวาละ ๓๓๖.๒๕ บาท นับว่าเป็นราคาสูงกว่าที่โจทก์ซื้อมามาก ดังนั้น จึงเป็นราคาที่เป็นธรรมและเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว ที่ดินของโจทก์มิได้อยู่ใกล้ตัวเมือง เป็นทุ่งนาว่างเปล่าและมิได้อยู่ติดถนนสายพระปิ่นเกล้า – นครชัยศรี เพราะในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ ถนนดังกล่าวยังไม่ได้สร้าง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ โดยเฉพาะ และจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า ๕ ปี จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคณะกรรมการปรองดองได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ด้วยความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๔ แล้ว สำหรับประเด็นข้ออื่นนั้นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๗๖ บัญญัติว่า เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกตามข้อ ๖๓ แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ ฯลฯ (๒) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ ซึ่งหมายความว่า ให้กำหนดเท่าราคาของที่ดินตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้นเท่านั้น ซึ่งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายพระประแดง – บางแค – ลาดบังหลวง – สุพรรณบุรี ตอนตลิ่งชัน – บางบัวทอง พ.ศ. ๒๕๒๑ ใช้บังคังโดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๕ ตอนที่ ๙๙ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๑ วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับคือวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๑ ไม่มีบทบัญญัติให้นำเอาราคาที่ซื้อขายก่อนและหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับที่สุดมาประกอบกันดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการซื้อขายกันในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๑ จึงต้องกำหนดค่าทดแทนโดยใช้ตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาศลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๐ ให้ใช้เป็นราคาปานกลางตั้งแต่ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นต้นไปเป็นเวลาสี่ปี เพื่อให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นเอกชนเสียภาษีบำรุงท้องที่ในท้องที่แขวงต่าง ๆ รวม ๘ แขวง ในเขตตลิ่งชัน มาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทน ซึ่งแขวงฉิมพลีที่ดินจากคลองบังถึง ถนนพุทธมณฑลสาย ๒ ราคาปานกลางไร่ละ ๖๐,๐๐๐ บาท หรือเท่ากับตารางวาละ ๑๕๐ บาท แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการปรองดองกำหนดให้โจทก์ตารางวาละ ๓๐๐ บาท ๓ แปลง และ ๔๔๕ บาท ๑ แปลง เป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว เพราะยังสูงกว่าราคาปานกลางถึงตารางวาละ ๑๕๐ บาท ๓ แปลง และ ๒๙๕ บาท ๑ แปลง
พิพากษายืน