คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ว.ร่วมกันมิได้เป็นคู่สัญญาด้วย เมื่อสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงว่า ผู้ซื้อจะชำระเงินมัดจำให้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่คณะผู้จัดการมรดกของ ว.ทั้ง 5 คน อนุมัติหรือให้สัตยาบันเป็นลายลักษณ์อักษร หรือนับแต่วันที่ผู้ขายแจ้งให้ผู้ซื้อทราบว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมรายนี้แก่ผู้ซื้อ ดังนี้เป็นการตกลงให้สัญญามีผลบังคับต่อเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวเป็นผลสำเร็จอันเป็นสาระสำคัญในการก่อให้เกิดความผูกพันแก่ทั้งสองฝ่าย
ในคดีที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขอให้ศาลชี้ขาดในการทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับโจทก์ จำเลยทั้งห้าแถลงต่อศาลว่าหากมีผู้เสนอราคาให้สูงกว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็พร้อมจะเลิกสัญญากับโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 รับจะหาผู้ซื้อรายใหม่ภายในกำหนด ถ้าหาผู้ซื้อไม่ได้ ขอให้ปรับปรุงแก้ไขสัญญานั้นถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุมัติหรือให้สัตยาบันกลับแสดงว่าจำเลยที่ 4และที่ 5 ไม่เห็นชอบ เพราะราคาที่ตกลงขายยังต่ำไป ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในคดีดังกล่าว และคดีถึงที่สุดแล้วย่อมทำให้เงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ไม่สำเร็จ โจทก์จะบังคับให้จำเลยทั้งห้าต้องปฏิบัติตามสัญญาในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของหลวงไวรณการ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะขายที่ดินมรดกพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม ๓ แปลงให้แก่โจทก์ ในราคาตารางวาละ ๖๕,๐๐๐ บาท โดยผู้ขายมีหน้าที่ขอรังวัดสอบเขตเพื่อทราบจำนวนเนื้อที่ให้แน่นอนผู้ซื้อตกลงชำระราคาแบ่งเป็น ๔ งวด งวดแรกชำระเงินมัดจำภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่คณะผู้จัดการมรดกทั้งห้าคนอนุมัติ หรือให้สัตยาบันเป็นลายลักษณ์อักษรในการทำสัญญาซื้อขาย หรือนับแต่วันที่ผู้ขายแจ้งให้ผู้ซื้อทราบว่าศาลได้มีคำสั่งหรืออนุญาตให้ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมรายนี้แก่ผู้ซื้อและภาย ใน ๑๕ วันนับแต่ผู้ขายได้รับเงินมัดจำ ผู้ขายต้องแจ้งวันนัดจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน หากไม่ยอมขายยอมให้บังคับตามสัญญาและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาต ให้สัญญาเป็นอันยกเลิกกันทันที ต่อมาจำเลยรับเงินมัดจำจากโจทก์แล้วแต่ไม่ออกหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ทราบ และไม่ติดต่อขอรังวัดสอบเขตจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ กลับมีหนังสือปฏิเสธการรับเงินมัดจำอันเป็นการผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทและรับเงินค่าที่ดิน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับว่าได้ทำสัญญาและรับเงินมัดจำตามฟ้อง แต่กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกโดยมติเสียงข้างมาก จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่นำเงินมัดจำมาชำระแก่กองมรดกภายในกำหนด สัญญายกเลิกแล้ว จำเลยที่ ๓ ไม่ได้รับเงินมัดจำ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องในการทำสัญญาตามฟ้อง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ทำสัญญากับโจทก์โดยฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะผู้จัดการมรดก จำเลยทั้งสองไม่ได้รู้เห็นในการรับเงินมัดจำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนทำสัญญาโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อขายเป็นกองมรดกของร้อยเอกหลวงไวรณการมีผู้จัดการมรดกรวมห้าคนในตอนท้ายของสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทได้พิมพ์รายชื่อจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผู้ขาย คงมีแต่ลายมือชื่อของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เท่านั้น ส่วนช่องที่ให้จำเลยที่ ๔และที่ ๕ ลงลายมือชื่อ เว้นว่างไว้ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒และที่ ๓ จึงได้ตกลงกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญา ข้อ ๔ มีความว่า”ผู้ซื้อตกลงชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาให้แก่ผู้ขายดังนี้ งวดที่ ๑ ชำระเป็นเงินมัดจำจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ภายใน๑๕ วัน นับแต่วันที่คณะผู้จัดการมรดกของร้อยเอกหลวงไวรณการทั้ง๕ คน อนุมัติหรือให้สัตยาบันเป็นลายลักษณ์อักษร ในการทำสัญญาจะซื้อขายฉบับนี้ หรือนับแต่วันที่ผู้ขายได้แจ้งให้ผู้ซื้อทราบว่าศาลได้มีคำสั่งหรืออนุญาตให้ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายนี้ให้กับผู้ซื้อ…” เห็นว่า ตามสัญญาดังกล่าวแสดงข้อตกลงเป็นเงื่อนไขให้สัญญามีผลบังคับต่อเมื่อผู้จัดการมรดกทั้งห้าคนได้พิจารณาให้ความยินยอมหรือรับรองตามข้อตกลงที่ทำไว้ในสัญญาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญของการก่อให้เกิดความผูกพันแก่ทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เป็นเงื่อนไขในการที่โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินมัดจำค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและในขณะเดียวกัน หากยังไม่มีการอนุมัติหรือให้สัตยาบันแล้วฝ่ายจำเลยก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา และไม่มีหน้าที่ในการขอรังวัดสอบเขต เพื่อทราบจำนวนที่ดินสำหรับคำนวณราคาอันแท้จริง รวมทั้งการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์การที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มีหนังสือไปถึงโจทก์ตอบปฏิเสธการรับเงินมัดจำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับการที่จำเลยทั้งห้าได้แถลงต่อศาลแพ่งในคดีที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ขอให้ศาลชี้ขาดในการทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับโจทก์ ปรากฏตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ มีความว่าหากมีผู้เสนอให้ราคาสูงกว่าโจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ก็พร้อมที่จะเลิกสัญญากับผู้ซื้อรายนี้ และจำเลยที่ ๔ และที่ ๕รับว่าจะหาผู้ซื้อรายใหม่ภายใน ๓๕ วัน ถ้าหาผู้ซื้อไม่ได้ ก็ขอให้ปรับปรุงแก้ไขสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทโดยไม่ให้เสียเปรียบแก่กองมรดกมากนักนั้น เห็นว่า ตามบันทึกดังกล่าวหาได้มีข้อความอันจะถือว่าเป็นการอนุมัติหรือให้สัตยาบันการทำสัญญากับโจทก์แต่อย่างใดไม่แต่กลับเป็นข้อความที่แสดงว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ยังไม่เห็นชอบด้วย โดยเห็นว่าราคาที่ตกลงขายยังต่ำไป และหากหาผู้ซื้อในราคาที่สูงกว่านี้ไม่ได้ภายในกำหนดก็ยังจะต้องปรับปรุงแก้ไขสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทกับโจทก์เพื่อประโยชน์ของทายาทในกองมรดกอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ที่ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ที่ ๒ และที่ ๓ โดยยังมิได้อนุมัติให้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่เงื่อนไขตามสัญญาข้อ ๔ ยังไม่สำเร็จลง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕โจทก์จะอ้างการชำระเงินมัดจำแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยมิชอบเพื่อถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาบังคับให้จำเลยทั้งห้าในฐานะผู้จัดการมรดกต้องปฏิบัติตามสัญญามิได้
พิพากษายืน.

Share