คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2749/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเงินประกันของโจทก์ที่จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนโจทก์นั้นโจทก์ได้ตกลงยอมให้จำเลยผ่อนชำระคืนโจทก์เป็นงวด ๆ งวดละเดือนการที่โจทก์มาฟ้องเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาจำนวนเงินอันพึงส่งเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาแน่นอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 มีกำหนดอายุความห้าปี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 150,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนแก่โจทก์เป็นงวด จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนโจทก์แล้วบางส่วน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เงินประกันจำนวน 150,000บาทนั้น จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินคืนให้โจทก์เป็นงวด ๆ รวม 13 งวดเป็นเงิน 65,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงค้างชำระอยู่ 85,000บาทเท่านั้น แต่คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินประกันคืนให้โจทก์จำนวน 65,000 บาทแล้ว และยังค้างชำระอยู่เพียง 85,000บาท จริงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่เห็นว่าคดีไม่ขาดอายุความพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์85,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินประกันของโจทก์ที่จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนให้โจทก์นั้น โจทก์ตกลงยอมให้จำเลยผ่อนชำระคืนให้โจทก์เป็นงวด ๆ งวดละเดือน กรณีดังกล่าวเป็นการเรียกเอาจำนวนเงินอันพึงส่งเพื่อผ่อนทุกคืนเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาแน่นอนการฟ้องเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวแต่ละงวดจึงมีกำหนดอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เมื่อจำเลยจะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายแก่โจทก์ในเดือนสิงหาคม 2520 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2526 ดังนั้นแม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินประจำงวดสุดท้ายก็เกินห้าปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share