แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้คำให้การจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่ง ป.พ.พ. มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ถือว่าการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงของจำเลยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในปี 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2517 มีบุตรด้วยกัน 2 คน บรรลุนิติภาวะแล้ว เมื่อปี 2542 โจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันโดยจำเลยดุด่าเหยียดหยามโจทก์ต่อหน้าสาธารณชนหลายครั้ง ได้ทะเลาะวิวาทกันอย่างรุนแรงจึงได้ไปทำบันทึกที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก หลังจากนั้นจำเลยยังคงเข้าไปด่าดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงหลายครั้งต่อหน้าผู้ร่วมงาน ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า ทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ การกระทำของจำเลยเป็นการผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติและเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงและเป็นการกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยดุด่าเหยียดหยามโจทก์ มีแต่โจทก์ดุด่าเหยียดหยามและทำร้ายร่างกายจำเลย บันทึกที่สถานีตำรวจที่ว่าคู่สัญญาตกลงว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันนั้น โจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติ โจทก์ไม่มีสิทธินำหนังสือดังกล่าวมาเป็นเหตุฟ้องหย่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้ชัดเจนว่าจำเลยใช้ถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์อย่างไร หรือจำเลยประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาอย่างไร ทำให้จำเลยหลงต่อสู้และเสียเปรียบ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งโจทก์อาจยกขึ้นกล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า เหตุในการฟ้องหย่าคดีนี้ขาดอายุความ เพราะโจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้างถือว่าสิทธิดังกล่าวระงับไปแล้ว แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดแจ้งถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิฟ้องร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) ไว้ คือสามีหรือภริยาหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรง และสามีหรือภริยาทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าโจทก์และจำเลยทะเลาะกันมาตั้งแต่ปี 2542 ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2544 โจทก์และจำเลยไปทำบันทึกที่สถานีตำรวจว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกันอีก แต่หลังจากนั้นจำเลยยังไปด่าโจทก์ ดูหมิ่นและเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรงต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2544 โจทก์จึงไปตักเตือนจำเลยว่าอย่าทำอีก ซึ่งโจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 ที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จนถึงปี 2546 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง ซึ่งเหตุดังกล่าวจำเลยยกขึ้นอุทธรณ์และกล่าวในคำแก้ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่ได้สั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นด้วยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ