คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. เบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. ซึ่งคำให้การดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียด อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ร. และ พ. พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) แม้จำเลยจะไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจของจำเลยเข้าร่วมในการสอบสวน แต่ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าก่อนสอบปากคำ พนักงานสอบสวนถามจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ อย่างไร จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ดังนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยสละสิทธิในการมีทนายความ เมื่อคดีมีเพียงอัตราโทษจำคุกไม่ใช่มีอัตราโทษประหารชีวิต กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดหาทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 12 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ไต้แย้งในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่ม แทงนายสดายุ ผู้เสียหายหลายครั้ง ถูกบริเวณหน้าท้อง ใต้ชายโครงขวาบาดแผลลึกทะลุถึงตับได้รับอันตรายสาหัส
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายสุชาติ นายเรืองยศ และนายไพโรจน์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ผู้เสียหายกับพวกไปเที่ยวที่ร้านตะวันคาราโอเกะ ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะอยู่ในร้านลูกค้าโต๊ะอื่นไม่พอใจผู้เสียหายเนื่องจากพนักงานหญิงของร้านดูแลผู้เสียหายเป็นพิเศษ แต่ก็สามารถปรับความเข้าใจกันได้ ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ผู้เสียหายกับพวกออกจากร้านดังกล่าวเพื่อจะกลับบ้านจึงถูกวัยรุ่นหลายคนรุมทำร้าย และมีคนร้ายคนหนึ่งใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายหลายครั้ง แต่ขณะที่ผู้เสียหายเบิกความนั้น พนักงานอัยการโจทก์ซักถามว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายมีตัวอยู่ในห้องพิจารณาของศาลหรือไม่ พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความว่า จำหน้าคนร้ายไม่ได้เนื่องจากเกิดเหตุมานานแล้ว เห็นว่า แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย นายสุชาติ นายเรืองยศ และนายไพโรจน์จะเบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้ เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย นายสุชาติ นายเรืองยศ และนายไพโรจน์มาเป็นพยาน ซึ่งคำให้การดังกล่าวต่างระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกันว่า ขณะผู้เสียหายกับพวกออกจากร้านตะวันคาราโอเกะเพื่อจะกลับบ้าน จำเลยกับพวกได้เข้ารุมทำร้าย โดยผู้เสียหายถูกวัยรุ่นไม่ทราบชื่อใช้ขวดตีบริเวณศีรษะข้างขวา หลังจากนั้นได้ถูกชกต่อยและสุดท้ายจำเลยได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงบริเวณหน้าท้องข้างขวาของผู้เสียหาย และยังมีคำให้การในชั้นสอบสวนของนายส่อหรี บิดาผู้เสียหาย ซึ่งให้การว่า ภายหลังทราบว่าผู้เสียหายถูกแทงได้รับบาดเจ็บ จึงติดตามไปที่โรงพยาบาล สอบถามนายสุชาติและนายเรืองยศได้ความว่าผู้ที่ใช้มีดแทงผู้เสียหาย คือ จำเลยกับพวก โดยนายส่อหรีให้การในวันเกิดเหตุ นายสุชาติให้การในวันที่ 30 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดเหตุไม่นานนัก ส่วนผู้เสียหาย นายเรืองยศ และนายไพโรจน์ให้การในวันที่ 30 มิถุนายน 2547 แม้จะเป็นเวลาหลังเกิดเหตุเกือบ 3 เดือน แต่ก็ได้ความจากพันตำรวจตรีประจักษ์ พนักงานสอบสวนว่า เนื่องจากพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเยาวชนต้องนัดหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นเข้าร่วมสอบปากคำ และในส่วนของผู้เสียหายก็ได้รับบาดเจ็บยังต้องพักรักษาตัวอยู่ ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุผลที่ทำให้พยานโจทก์ดังกล่าวมาให้การล่าช้า จึงหาเป็นพิรุธแต่อย่างใดไม่ เมื่อพิจารณาคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ดังกล่าวโดยเฉพาะของผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน แต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียดว่า อายุประมาณ 20 ปีกว่า รูปร่างใหญ่ล่ำสัน ผมหยิก หน้ากลม ผิวดำแดง ตาสองชั้น จมูกปกติ ริมฝีปากหนา หูปกติ มีลายสักที่บริเวณเปลือกตาเขียนว่าอะไรจำไม่ได้ อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย นายเรืองยศ และนายไพโรจน์ ก็ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการ อันเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง เชื่อว่า ขณะให้การผู้เสียหาย นายสุชาติ นายเรืองยศ นายไพโรจน์ และนายส่อหรีคงไม่ทันคิดช่วยเหลือหรือปรักปรำจำเลย และไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวให้การไว้โดยมีเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบกับ ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย นายสุชาติ นายเรืองยศ และนายไพโรจน์ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามลำดับและตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวน เพียงแต่ไม่ชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายเท่านั้น ในเรื่องนี้คงเป็นเพราะพยานโจทก์ดังกล่าวมาเบิกความเป็นพยานภายหลังจากวันเกิดเหตุเป็นเวลานานถึง 13 ปี รูปร่างหน้าตาของจำเลยย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงเป็นเหตุให้พยานโจทก์ดังกล่าวจำหน้าจำเลยไม่ได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจตรีประจักษ์ พนักงานสอบสวน มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยให้การรับสารภาพ และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา พันตำรวจตรีประจักษ์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่โดยไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย คำเบิกความของพันตำรวจตรีประจักษ์ที่เกี่ยวกับการสอบสวนจำเลยก็ไม่มีข้อพิรุธที่ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าทำการสอบสวนโดยไม่ชอบแต่อย่างใด จำเลยก็ให้การหลังเกิดเหตุไม่นาน คือ วันที่ 13 มิถุนายน 2547 และได้ให้รายละเอียดต่างๆ ในการกระทำความผิดไว้อย่างละเอียดเป็นขั้นตอน ซึ่งมีข้อเท็จจริงสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสี่ เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจและให้การไปตามความจริงที่เกิดขึ้น ที่จำเลยนำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่นั้น จำเลยก็มีเพียงตัวจำเลยเบิกความปากเดียวลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 นำคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลย ซึ่งไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจของจำเลยเข้าร่วมในการสอบสวนมารับฟังประกอบในการวินิจฉัยลงโทษจำเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่า ก่อนสอบปากคำ พนักงานสอบสวนถามจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ อย่างไร จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ดังนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยสละสิทธิในการมีทนายความ เมื่อคดีนี้มีเพียงอัตราโทษจำคุกไม่ใช่มีอัตราโทษประหารชีวิต กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 วรรคสอง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share