คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะฟังว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรกหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวง ดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินมัดจำ 10,000 บาท จากโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าขณะที่โจทก์วางมัดจำนั้น จำเลยทั้งสองได้ขายรถยนต์ไปแล้วจริง อันจะทำให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่แรก แต่กลับปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสอง ให้ผู้อื่นเช่าซื้อรถยนต์ไปในภายหลัง การที่จำเลยทั้งสอง ปฏิเสธไม่ยอมขายรถยนต์ให้โจทก์ในราคาที่ตกลงกันไว้แต่แรก จะเป็นด้วยการคิดคำนวณราคาผิดหรือเพราะมีเรื่องทะเลาะกัน จึงไม่คิดส่วนลดให้โจทก์ก็ตาม กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่มีมูลเป็นความผิดทางอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อไปแล้ว 470,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและยึดรถยนต์คืน จำเลยทั้งสองโดยทุจริตได้หลอกลวงโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งว่าถ้าจะเอารถยนต์คืนจะต้องจ่ายเงินให้กับจำเลยทั้งสองจำนวน332,900 บาท โจทก์หลงเชื่อจึงจ่ายเงินให้กับจำเลยทั้งสองไปจำนวน 10,000 บาท และในวันรุ่งขึ้นโจทก์ได้เตรียมเงินอีกจำนวน322,900 บาท มาติดต่อเพื่อชำระให้ครบแต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่รับเงินพร้อมกับแจ้งว่า หากโจทก์จะเอารถยนต์คืนจะต้องชำระเงินทั้งสิ้น 357,900 บาท เมื่อโจทก์ขอดูรถยนต์จำเลยทั้งสองกลับบ่ายเบี่ยง โจทก์มาทราบความจริงว่ารถยนต์คันดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ขายไปแล้ว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 โจทก์เช่าซื้อรถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อไปบางส่วนแล้ว ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อจำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืน โจทก์จึงได้มาเจรจากับฝ่ายจำเลยในที่สุดตกลงกันว่าให้โจทก์ชำระราคารถยนต์ รวมทั้งค่าดอกเบี้ย ค่าติดตามยึดรถค่าซ่อม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆเป็นเงิน 332,900 บาท ตามเอกสารหมาย จ.23 โดยชำระเป็นเงินสดทั้งหมด และโจทก์วางมัดจำไว้ 10,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.24ส่วนที่เหลือจะต้องชำระในวันรุ่งขึ้น ครั้นเมื่อโจทก์นำเงินมาชำระจำเลยที่ 2 ไม่ยอมโดยคิดยอดใหม่เป็นเงิน 357,900 บาท ตามเอกสารหมาย จ.23 ด้านหลัง จึงตกลงกันไม่ได้ และจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนมัดจำ 10,000 บาท ให้โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 2 และนายนรชิด กงจันทร์ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่าในการคิดราคารถยนต์ในครั้งแรกนั้นโจทก์มาติดต่อกับฝ่ายสินเชื่อโดยมีนายนรชิดและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีเป็นผู้คิดราคา โดยมีส่วนลดในการชำระเป็นเงินสดให้โจทก์ คงเหลือยอดสุทธิ 332,900 บาทนางสาวประไพศรี รัตนสุบรรณ เป็นผู้เขียนยอดเงินตามเอกสารหมาย จ.23 โจทก์เองก็มิได้ยืนยันว่าได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 โดยตรงเพียงเบิกความว่าตกลงกับฝ่ายจำเลย จึงน่าเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าพนักงานฝ่ายสินเชื่อและฝ่ายบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นผู้คิดยอดเงินตามเอกสารหมาย จ.23 และให้โจทก์วางมัดจำไว้ตามเอกสารหมาย จ.24 โดยจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องด้วย ในวันรุ่งขึ้น เมื่อโจทก์นำเงินมาชำระ จำเลยที่ 2 คิดราคาใหม่เป็นเงิน 357,900 บาท ตามเอกสารหมาย จ.23 ด้านหลัง ซึ่งโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 บอกว่าราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นค่าหมั่นไส้ ถ้าจะเอารถยนต์ก็ให้นำเงินมา ถ้าไม่เอาก็ออกจากร้านไป ฝ่ายจำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ไม่ชำระเงินตามกำหนดจึงไม่คิดส่วนลดให้ แต่รับว่าได้ทะเลาะกับโจทก์จริง เห็นว่า นายนรชิต พยานจำเลยเองเบิกความว่า ได้นัดให้โจทก์นำเงินมาชำระในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อโจทก์มาติดต่อขอชำระได้คิดราคารถยนต์ใหม่เป็นเงิน 357,900 บาท จึงทำให้โจทก์ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระในวันนั้น เห็นได้ว่าโจทก์ได้นำเงินมาเพื่อชำระตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าราคารถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเพราะโจทก์ไม่ชำระตามกำหนด จึงไม่คิดส่วนลดให้ จึงฟังไม่ขึ้น เหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่คิดส่วนลดให้จึงเชื่อว่าเป็นเพราะมีเรื่องทะเลาะกันดังที่โจทก์นำสืบ อย่างไรก็ดี การที่จะฟังว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรก หลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินมัดจำ 10,000 บาท จากโจทก์ ฟ้องโจทก์อ้างว่าเมื่อโจทก์ขอดูรถยนต์ จำเลยทั้งสองกลับบ่ายเบี่ยง โจทก์จึงมาทราบความจริงว่า รถยนต์คันดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้ขายไปแล้ว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าขณะที่โจทก์วางมัดจำนั้น จำเลยทั้งสองได้ขายรถยนต์ไปแล้วจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่แรก แต่กลับปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองให้ผู้อื่นเช่าซื้อรถยนต์ไปภายหลังเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2538 การที่จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมขายรถยนต์ให้โจทก์ในราคาที่ตกลงกันไว้แต่แรกจะเป็นด้วยการคิดคำนวณราคาผิดหรือเพราะมีเรื่องทะเลาะกันจึงไม่คิดส่วนลดให้โจทก์ก็ตาม กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งไม่มีมูลเป็นความผิดทางอาญาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share