คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5659/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมแม้จำเลยจะมิได้นำเอกสารปลอมไปแสดงด้วยตนเอง แต่จำเลยมอบอำนาจให้ ส. ไปดำเนินการแทน โดย ส. ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม การที่ ส. ไปดำเนินการยื่นเอกสารปลอมแทนจำเลย ก็มีผลเท่ากับจำเลยไปดำเนินการด้วยตนเอง
ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องจำเลยทำปลอมสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติม แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่ามีการทำปลอมมาตั้งแต่คำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็ไม่มีผลถึงหรือทำให้การกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ ฟ้องเปลี่ยนแปลงไป ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้เพราะให้การปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่เป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นลายมือชื่อปลอม จึงฟังไม่ได้ว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมอยู่แล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้น มิได้ยกขึ้นวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้จึงมิใช่การหยิบยกข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นขึ้นวินิจฉัย
จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมในสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. และยื่นจดทะเบียนแก้ไขถอนผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่โจทก์ร่วมออกจากการเป็นหุ้นส่วน อันเป็นการ จำกัดสิทธิในห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และโจทก์ร่วมเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม แจ้งให้เจ้าพนักงาน จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย เฉพาะความผิดฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียว เท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งความผิดฐานนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานฉ้อโกง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ ความผิดฐานฉ้อโกงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกความผิดฐานฉ้อโกงขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้อง ในความผิดฐานนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนความผิดฐานฉ้อโกง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๗, ๒๖๘, ๓๔๑ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ ๒ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก จำคุก ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ แต่กระทงเดียวตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง และจำเลยยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ยกฟ้องข้อหาฉ้อโกง และริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการในการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ตามสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติม เอกสารหมาย ป.จ. ๑๒ (ศาลจังหวัดอ่างทอง) มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยหรือไม่ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า ลายมือชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนลำดับที่ (๔) ถึง (๖) ในสัญญาหุ้นส่วน แก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย ป.จ. ๑๒ (ศาลจังหวัดอ่างทอง) มิใช่ลายมือชื่อของตน ทั้งปรากฏว่าหลังจากฝ่ายผู้เสียหายมอบอำนาจให้ทนายความไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานสอบสวนได้ส่งลายมือชื่อดังกล่าวไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ ซึ่งผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อดังกล่าวเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ว่า คุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกันจึงลงความเห็นว่า แต่ละลายมือชื่อไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน และที่จำเลยอ้างว่า นำคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมห้างหุ้นส่วนไปมอบให้ผู้เสียหายที่ ๑ และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อ โดยไม่รู้เห็นในการลงลายมือชื่อ แต่กลับยืนยันต่อ ส. ว่าผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ และโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยเช่นนี้ จึงเป็นพิรุธและมีข้อเคลือบแคลงในความสุจริตของจำเลย ฉะนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อ แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยประกอบกับมูลเหตุจูงใจและผลประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับจากการกระทำดังกล่าว มีน้ำหนักให้เชื่อว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของ ผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ และโจทก์ร่วมแม้จำเลยจะมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อผู้เสียหายที่ ๔ ด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้ ส. ไปดำเนินการแทน โดย ส. ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม การที่ ส. ไปดำเนินการยื่นเอกสารดังกล่าวแทนจำเลย ก็มีผลเท่ากับจำเลยไปดำเนินการด้วยตนเอง และเมื่อผู้เสียหายที่ ๔ ได้รับเอกสารและดำเนินการให้ตามเอกสารนั้น ผู้เสียหายที่ ๔ ย่อมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องจำเลยปลอมสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. แสดงว่าฝ่ายผู้เสียหายเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแล้ว แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่า ลายมือชื่อฝ่ายผู้เสียหายในคำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นลายมือชื่อปลอม ฝ่ายผู้เสียหายจึงไม่ได้เข้าเป็นหุ้นส่วนมาแต่แรก ถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง นั้น เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องจำเลยทำปลอมสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่ามีการทำปลอมมาตั้งแต่คำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ก็ไม่มีผลถึงหรือทำให้การกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ข้อแตกต่างดังกล่าวนั้นจึงมิใช่ข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ เพราะให้การปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้กระทำความผิด ไม่เป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง และข้อที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยว่า ลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นลายมือชื่อปลอม จึงฟังไม่ได้ว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมอยู่แล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นมิได้ยกขึ้นวินิจฉัย ซึ่งอาจเนื่องมาจากเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยปลอมสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยปัญหานี้จึงมิใช่การหยิบยกข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นดังจำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยว่า ฝ่ายผู้เสียหายมิใช่ผู้เสียหายในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์นั้น ไม่ชอบเพราะฝ่ายผู้เสียหายเป็นผู้ถูกปลอมลายมือชื่อ ย่อมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นว่า จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ และโจทก์ร่วมในสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เอกสารหมาย ป.จ. ๑๒ (ของศาลจังหวัดอ่างทอง) และยื่นจดทะเบียนแก้ไขถอนผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ และที่โจทก์ร่วมออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. อันเป็นการจำกัดสิทธิในห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ และโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ด้วย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนนี้ฟังขึ้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยว่าผู้เสียหาย ที่ ๔ มิได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงไว้ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้และพิพากษายกฟ้องนั้นเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และฉ้อโกง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวจึงเท่ากับศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา ๓๔๑ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานฉ้อโกงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ และโจทก์ก็มิได้ยื่นอุทธรณ์ ความผิดฐานฉ้อโกงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ หยิบยกความผิดฐานฉ้อโกงขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้อีกจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนความผิดฐานฉ้อโกงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ และโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและที่พิพากษายกฟ้องความผิดฐานฉ้อโกง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔.

Share