แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเขตพระนครเขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 หมดอายุ วันที่ 16 มิถุนายน 2535 ส่วน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณ ที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ.2535 ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 มีระยะห่างกันเพียง 2 เดือน และกำหนดเขตที่จะทำการ สำรวจเพื่อเวนคืนและท้องที่ที่จะเวนคืนเป็นเขตและท้องที่เดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจาก พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณ ที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ.2530 สิ้นอายุแล้วที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน มีสภาพเปลี่ยนแปลงอย่างไร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคหนึ่งกำหนดให้ดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน เมื่อจำเลยที่ 1 เคยสำรวจที่ดินโจทก์และทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนแน่นอนแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการสำรวจหรือกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินโจทก์ดังกล่าวขึ้นใหม่ ขณะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ.2535มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนกับโจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง สัญญาซื้อขาย ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะดังนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืน จึงต้องบังคับตามว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21(1) ถึง(5)ประกอบกัน ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในย่าน ที่เจริญแล้วแม้การเวนคืนที่ดินจะมีเหตุและวัตถุประสงค์เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเพื่ออำนวยความสะดวก และความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการ สาธารณูปโภคของรัฐก็ตามแต่รัฐก็เก็บเงินค่าตอบแทนจากการใช้ บริการดังกล่าว อันมีลักษณะเป็นการดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย เมื่อ ศาลฎีกาคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกอบกันแล้ว เห็นว่าที่ จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่ เป็นธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้ เมื่อฝ่ายจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัย ของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ย เงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 26 วรรคสาม ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ขอ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 10แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2535 จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าทดแทนที่ดินให้หมดภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ดังนั้น วันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม คือ วันที่ 15 เมษายน 2536
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 131883 ที่ถูกเวนคืนคืนแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถคืนที่ดินแก่โจทก์ได้ก็ให้ร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 26,906,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 24,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะคืนที่ดินหรือใช้ราคา
จำเลยทั้งสองให้การว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนครเขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครพ.ศ.2530 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่16 มิถุนายน 2535 ที่ดินโจทก์ถูกกำหนดเป็นแนวเขตเวนคืนด้วยจำเลยทั้งสองให้เจ้าหน้าที่สำรวจที่ดินในแนวเขตเวนคืนรวมถึงที่ดินโจทก์ แต่สำรวจได้เพียงบางส่วนพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวหมดอายุ ต่อมามีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนอีกฉบับในปี 2535 เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจที่ดินต่อไปได้ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นเกณฑ์พิจารณาประกอบกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำเลที่ตั้ง ลักษณะของที่ดิน แล้วจึงกำหนดราคาเบื้องต้น ที่ดินโจทก์อยู่ในตำแหน่ง 07 แอล 054 ราคาตารางวาละ 60,000 บาทเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะจำเลยทั้งสองมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ หากจะเป็นการคิดดอกเบี้ยจากค่าทดแทนในการเวนคืน โจทก์จะคิดจากวันที่ 14 มกราคม 2536ไม่ได้เพราะสิทธิของโจทก์ยังไม่เกิดขึ้นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี มิใช่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 131883 แขวงห้วยขวาง(สามเสนนอกฝั่งเหนือ) เขตห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 205 ตารางวา ที่ดินโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงเขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขนเขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530มีอายุ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2535 ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนและตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ของที่ดินที่ถูกเวนคืน คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ดังกล่าวได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 60,000 บาท ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2535 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อเขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตคลองเตยเขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครพ.ศ.2535 เพื่อสร้างทางพิเศษตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ.2530 เดิมที่สิ้นอายุไปแล้วโดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและมีอายุ 4 ปี วันที่ 16 ธันวาคม 2535 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำผลการสำรวจที่ดินและการกำหนดราคาเบื้องต้นซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ.2530 มาใช้จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการสำรวจที่ดินของโจทก์และมิได้กำหนดราคาเบื้องต้นที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนขึ้นใหม่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ.2535
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า สัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองนำผลการสำรวจและกำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ.2530 ซึ่งสิ้นอายุแล้วมาทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ.2530 หมดอายุวันที่ 16 มิถุนายน 2535ส่วนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ.2535 ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 มีระยะห่างกันเพียง 2 เดือน และกำหนดเขตที่จะทำการสำรวจเพื่อเวนคืนและท้องที่ที่จะเวนคืนเป็นเขตและท้องที่เดียวกัน ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ.2530 สิ้นอายุแล้ว ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีสภาพเปลี่ยนแปลงอย่างไร พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคหนึ่งกำหนดได้ดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน เมื่อจำเลยที่ 1เคยสำรวจที่ดินโจทก์และทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนแน่นอนแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการสำรวจหรือกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินโจทก์ดังกล่าวขึ้นใหม่ขณะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขาย พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ.2535 มีผลใช้บังคับแล้วจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนกับโจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง สัญญาซื้อขายที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมามีว่าการที่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 60,000 บาท เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปว่าในปี 2535 ที่ดินซึ่งอยู่ติดกับถนนเทียมร่วมมิตรมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 114,000 บาท ถึง 375,000 บาทที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรมีราคาตารางวาละ 180,000 บาท นั้นเห็นว่า ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้ การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืน จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21(1) ถึง(5) ประกอบกัน โจทก์ และนายสุวัฒน์ ด่านศรีชาญชัยพนักงานของจำเลยที่ 1 สังกัดกองกรรมสิทธิ์ที่ดินพยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า นายอิ่ม เณรยอดได้ขายที่ดินให้แก่ธนาคารไทยทนุ จำกัด ในราคาตารางวาละ 114,000 บาทตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.13 ที่ดินนายอิ่มดังกล่าวอยู่บริเวณซอยยอดสุวรรณซึ่งแยกมาจากถนนประชาอุทิศอยู่ห่างจากที่ดินโจทก์ประมาณ 100 เมตร ที่ดินโจทก์อยู่ติดถนนซอยเทียมร่วมมิตร เมื่อที่ดินโจทก์และที่ดินนายอิ่มอยู่คนละถนนและไม่ปรากฏในทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายว่ามีความเจริญต่างกันอย่างไร อีกทั้งนายอิ่มขายที่ดินให้แก่ธนาคารเพื่อประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จึงไม่อาจนำราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบได้อย่างไรก็ดีที่ดินโจทก์ออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 9และถนนประชาอุทิศใต้ และอยู่ห่างศูนย์การค้าและศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยประมาณ 700 เมตร แสดงว่าที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในย่านที่เจริญแล้ว แม้การเวนคืนที่ดินจะมีเหตุและวัตถุประสงค์เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภคของรัฐก็ตามแต่รัฐก็เก็บเงินค่าตอบแทนจากการใช้บริการดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นการดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย เมื่อคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกอบกันแล้วที่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 60,000 บาท นั้น ยังไม่เป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนดังกล่าวตารางวาละ 70,000 บาท กล่าวคือ กำหนดเพิ่มตารางวาละ 10,000 บาท จำนวน 205 ตารางวา รวมเป็นเงิน2,050,000 บาท
ที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คงที่ตลอดไปนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2536นั้น เห็นว่า เมื่อฝ่ายจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวข้างต้นโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ขอ และคดีนี้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อวันที่16 ธันวาคม 2535 จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าทดแทนที่ดินให้หมดภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง ดังนั้น วันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม คือวันที่ 15 เมษายน 2536
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,306,250 บาท