คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 524/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่าหนังสือสัญญาเช่าเป็นโมฆะหรือไม่นั้นย่อมครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่าหนังสือสัญญาเช่าและการจดทะเบียนการเช่ามีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการทรัพย์สินพ.ศ.2529ข้อ12ระบุว่าการให้เช่าทรัพย์สินต้องมีเงื่อนไขดังนี้ “(1)ระยะเวลาการเช่าไม่เกิน3ปีรวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งไม่เกิน3ปีให้เป็นอำนาจของปลัดกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคาเว้นแต่ปลัดกรุงเทพมหานครจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น(2)ระยะเวลาการเช่าเกิน3ปีรวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งเกิน3ปีให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและให้ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคาเว้นแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะสั่งการเป็นอย่างอื่น”ซึ่งข้อบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่9พฤษภาคม2529แล้วการที่ส. ในฐานะปลัดกรุงเทพมหานครทำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่7ตุลาคม2529ให้ว. ทำหนังสือสัญญาเช่ากับจำเลยตามเอกสารหมายจ.1และทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทตามหนังสือสัญญาเช่าและหลักฐานการจดทะเบียนการเช่าเอกสารหมายจ.2และจ.3ลงวันที่20พฤศจิกายน2529ซึ่งเป็นวันที่ทำหลังจากวันที่9พฤษภาคม2529แล้วและรวมทั้งได้มีระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยทรัพย์สินพ.ศ.2525ข้อ12ว่า”การให้เช่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ให้ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคาเว้นแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะสั่งการเป็นอย่างอื่นโดยมีเงื่อนไขดังนี้(1)การให้เช่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าไม่เกิน1ปีรวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งไม่เกิน1ปีให้เป็นอำนาจของปลัดกรุงเทพมหานคร(2)การให้เช่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกิน1ปีแต่ไม่เกิน3ปีรวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งไม่เกิน3ปีให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(3)การให้เช่าทรัพย์ของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน3ปีรวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยข้อ13ในกรณีที่มีเหตุพิเศษที่สมควรยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบนี้หรือซึ่งมิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ให้รายงานขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรายๆไป”และระเบียบกรุงเทพมหานครนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่1มกราคมพ.ศ.2525เป็นต้นไปดังนั้นเมื่ออาคารพิพาทเป็นของกรุงเทพมหานครโจทก์แล้วส. ในฐานะปลัดกรุงเทพมหานครจึงจะนำอาคารพิพาทของโจทก์ไปให้จำเลยเช่าและทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่าเป็นระยะเวลา15ปีโดยลำพังหาได้ไม่หนังสือสัญญาเช่าและการจดทะเบียนการเช่าที่ส. ทำกับจำเลยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2518 โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 459พร้อมอาคารเลขที่ 17/1 ตั้งอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โดยบางส่วนของอาคารได้ปลูกสร้างบนที่ดินสาธารณะแปลงอื่นซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของโจทก์ โจทก์ได้ให้สโมสรพนักงานเทศบาลเข้าครอบครองดูแลใช้ประโยชน์ในอาคารและเป็นที่ทำการของสโมสรพนักงานเทศบาลตลอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529ว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้นำอาคารดังกล่าวให้จำเลยเช่ามีกำหนด 15 ปี ตามหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ทั้งนี้โดยว่าที่ร้อยตรีเสมอใจไม่มีอำนาจนำทรัพย์ของโจทก์ออกให้ผู้อื่นเช่ามีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นการผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการทรัพย์สิน พ.ศ. 2529 หนังสือสัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและอาคารแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายสิ่งของออกจากที่ดินและอาคารเลขที่ 17/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ และส่งมอบที่ดินและอาคารดังกล่าวคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้อง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาท สมาคมสโมสรพนักงานเทศบาลซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทโดยโจทก์ได้ยินยอมให้สมาคมก่อสร้างอาคารพิพาทขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2497 โดยใช้เงินของสมาคมที่สมาคมติดต่อหามาได้เองเป็นค่าก่อสร้าง สมาคมเป็นนิติบุคคลต่างหากโดยมิได้เป็นหน่วยงานของโจทก์หรืออยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ต่อมา พ.ศ. 2527 สมาคมได้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดกนกจิตเป็นผู้ลงทุนปรับปรุงอาคารพิพาทโดยยอมให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดกนกจิตเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งนายกสโมสรสมาคมได้นำเรื่องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์แล้วและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้นก็ได้อนุญาตให้สโมสรดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528สโมสรพนักงานเทศบาลจึงได้ทำสัญญาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดกนกจิตเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 15 ปี ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2529ห้างหุ้นส่วนจำกัดกนกจิตได้ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้จำเลยโดยนายกสโมสรพนักงานเทศบาลได้ให้ความเห็นชอบด้วยจำเลยจึงได้ไปจดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทและเข้าดำเนินกิจการในอาคารพิพาท ขณะทำสัญญาเช่าสมาคมสโมสรพนักงานเทศบาลมีว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง เป็นนายกสมาคม และมีอำนาจนำอาคารพิพาทออกให้จำเลยเช่าได้ สัญญาเช่าได้ทำขึ้นก่อนที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการทรัพย์สิน พ.ศ. 2529 ใช้บังคับจึงมีผลใช้บังคับได้ จำเลยจึงมีสิทธิอยู่ในอาคารพิพาทได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทดังกล่าวเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2518 โดยเดิมทีนั้นโจทก์เป็นส่วนราชการมีชื่อว่าเทศบาลนครกรุงเทพ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ปัจจุบันมีชื่อว่ากรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. 2485 พนักงานเทศบาลนครกรุงเทพได้จัดตั้งสมาคมสโมสรพนักงานเทศบาลขึ้น โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีชื่อว่าสมาคมสโมสรพนักงานเทศบาล โดยมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ที่ทำการสำนักงานเทศบาลกรุงเทพ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร และมีข้อบังคับตามเอกสารหมาย จ.30 ต่อมา พ.ศ. 2498 ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ แก้ไขข้อบังคับ และย้ายสำนักงานตามสำเนาทะเบียนสมาคมเอกสารหมาย จ.11 โดยสำนักงานแห่งใหญ่ที่ย้ายมาอยู่ใหม่ คืออาคารเลขที่ 77/1 ถนนพระอาทิตย์ตำบลพระราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร คืออาคารพิพาทคดีนี้อาคารพิพาทคดีนี้ปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 459 ตำบลพระราชวังอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 อาคารพิพาทนี้สร้างโดยเงินบริจาคของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งจอมพลแปลกพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลบริจาคเงินให้มาทำการปลูกสร้างจำนวน 1,000,000 บาท ตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกสโมสรพนักงานเทศบาลเอกสารหมาย จ.31 หรือ ล.7 และบันทึกเรื่องใช้พื้นที่ในการต่อเติมอาคารสโมสรพนักงานเทศบาลฯเอกสารหมาย ล.17 ซึ่งบันทึกรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.31นี้มีการกล่าวถึงการปลูกสร้างอาคารที่สโมสรพนักงานเทศบาลใช้และการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกร้อยเอกฉัตรศรียานนท์ เป็นนายกกรรมการอำนวยการสโมสรและมีกรรมการอีก14 คน ตามบัญชีรายงานคณะกรรมการอำนวยการสโมสรพนักงานเทศบาลเอกสารหมาย จ.31 หรือ ล.7 แผ่นที่ 4 เมื่ออาคารพิพาทสร้างเสร็จและมีการใช้ในกิจการของสโมสรพนักงานเทศบาลแล้ว ต่อมาได้มีการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างปรับปรุงอาคารพิพาทต่อโจทก์ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้อนุญาตให้ทำการก่อสร้างปรับปรุงอาคารพิพาทได้ ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 ได้มีการทำหนังสือสัญญาให้เช่าอาคารพิพาทระหว่างนายกสโมสรพนักงานเทศบาลและข้าราชการกรุงเทพมหานครกับห้างหุ้นส่วนจำกัดกนกจิตมีกำหนด 15 ปีตามสำเนาหนังสือสัญญาให้เช่าเอกสารหมาย จ.32 ต่อมาวันที่7 ตุลาคม 2529 ได้มีการทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกนกจิตให้จำเลยตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าเอกสารหมาย จ.33 ต่อมาวันที่ 7 ตุลาคม 2529และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 ได้มีการมอบอำนาจและมีการจดทะเบียนสัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง(ปลัดกรุงเทพมหานคร) โดยนายวันชัย สอนมีทอง เป็นผู้รับมอบอำนาจกับบริษัทครัววังหน้า จำกัด จำเลย มีกำหนด 15 ปี ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ต่อมาโจทก์ได้มีคำสั่งสอบวินัยว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ฐานนำอาคารพิพาทของโจทก์ให้จำเลยเช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามสำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.34 และมีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ตามสำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.23 ต่อมาว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ได้อุทธรณ์ต่อ ก.พ. ซึ่งต่อมา ก.พ. โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีคำสั่งให้ยกโทษให้ว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ที่ให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนนั้น ตามสำเนาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเอกสารหมาย จ.24
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า
1. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบซึ่งมีพยานเอกสารและพยานบุคคลเบิกความประกอบพยานเอกสารมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าอาคารพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ หาใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของสโมสรพนักงานเทศบาลดังที่จำเลยให้การต่อสู้และนำสืบไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่า สัญญาเช่าเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเสียก่อน เนื่องจากคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายได้นำสืบพยานหลักฐานไว้จนสิ้นกระแสความแล้ว และจะได้วินิจฉัยเป็นลำดับไปดังนี้
2. ในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า หนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆะหรือไม่นั้น ย่อมครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่าหนังสือสัญญาเช่าและการจดทะเบียนการเช่าตามเอกสารหมาย จ.2มีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการทรัพย์สิน พ.ศ. 2529 ข้อ 12 ระบุว่า การให้เช่าทรัพย์สินต้องมีเงื่อนไข ดังนี้
“(1) ระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 3 ปี รวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งไม่เกิน 3 ปี ให้เป็นอำนาจของปลัดกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคาเว้นแต่ปลัดกรุงเทพมหานครจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น (2) ระยะเวลาการเช่าเกิน 3 ปี รวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งเกิน 3 ปีให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และให้ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคา เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครจะสั่งการเป็นอย่างอื่น”ซึ่งข้อบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2529 แล้ว การที่ว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ในฐานะปลัดกรุงเทพมหานครทำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 7 ตุลาคม 2529 ให้นายวันชัยสอนมีทอง ทำหนังสือสัญญาเช่ากับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 และทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทตามหนังสือสัญญาเช่าและหลักฐานการจดทะเบียนการเช่าเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งเป็นวันที่ทำหลังจากวันที่ 9 พฤษภาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.35 แล้ว และรวมทั้งได้มีระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยทรัพย์สิน พ.ศ. 2525 ข้อ 12ตามเอกสารหมาย จ.36 ว่า “การให้เช่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ให้ดำเนินการโดยวิธีประกวดราคา เว้นแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะสั่งการเป็นอย่างอื่น โดยมีเงื่อนไขดังนี้ (1) การให้เช่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 1 ปี รวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ปี ให้เป็นอำนาจของปลัดกรุงเทพมหานคร(2) การให้เช่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี รวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งไม่เกิน 3 ปี ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (3) การให้เช่าทรัพย์ของกรุงเทพมหานครหรือของการพาณิชย์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน 3 ปี รวมทั้งการต่ออายุสัญญาเช่าแต่ละครั้งให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ข้อ 13 ในกรณีที่มีเหตุพิเศษที่สมควรยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบนี้หรือซึ่งมิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ให้รายงานขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นราย ๆ ไป”ซึ่งระเบียบกรุงเทพมหานครนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมพ.ศ. 2525 เป็นต้นไป ดังนั้นเมื่ออาคารพิพาทเป็นของโจทก์แล้วว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ในฐานะปลัดกรุงเทพมหานครจึงจะนำอาคารพิพาทของโจทก์ไปให้จำเลยเช่าและหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่าเป็นระยะเวลา 15 ปี โดยลำพังหาได้ไม่หนังสือสัญญาเช่าและการจดทะเบียนการเช่าตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3ที่ว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง ทำกับจำเลยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
3. โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทแล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและอาคารพิพาทแล้วตามหนังสือให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่เช่าลงวันที่ 10 มกราคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งจำเลยได้รับแล้วตามหลักฐานการรับเอกสารหมาย จ.5 เห็นว่า โจทก์มีนายสุพจน์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองรายได้กรุงเทพมหานคร พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบตามหนังสือเรื่องให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่เช่าเอกสารหมาย จ.4ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารพิพาทแล้วและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วตามหลักฐานการรับเอกสารหมาย จ.5ส่วนจำเลยมี นายกนก ศรีรงควัฒน์ กรรมการของจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากอาคารพิพาทตามที่โจทก์อ้าง เห็นว่า เมื่อโจทก์มีพยานบุคคลเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เช่นนี้ จึงเชื่อว่า โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทแล้วที่นายกนกเบิกความว่า จำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวจึงเป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนั้นเมื่ออาคารพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์ไม่มีความประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไปแล้วจำเลยก็ต้องออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทของโจทก์
พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 459 และอาคารเลขที่ 77/1 ถนนพระอาทิตย์แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์และให้จำเลยส่งมอบที่ดินกับอาคารดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย

Share