แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ และ ส. ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ จำเลยได้ปราศรัยหาเสียงว่า “จะตั้งทนายประจำทีมและจะดำเนินการช่วยเหลือโดยการประกันตัวให้กับทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง” คำปราศรัยของจำเลยมุ่งประสงค์จะช่วยเหลือในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล เพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังได้รับการปล่อยชั่วคราว นอกจากที่ตามปกติผู้ขอประกันจะต้องนำหลักทรัพย์ ซึ่งอาจต้องเสียเงินเช่าหลักทรัพย์หรือจัดซื้อกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ ดังนั้น การเสนอว่าจะใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุหรือตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับจำเลยเป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องปล่อยชั่วคราว ทั้งที่มิใช่งานในหน้าที่ตามกฎหมายของนายกเทศมนตรี จึงมีลักษณะเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย หาใช่เป็นเพียงนโยบายของกลุ่มของจำเลยที่จะให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 57 (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การปราศรัยหาเสียงของจำเลยว่า “นายกมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่อย่าให้ใครมาซื้อซองเพราะซื้อซองฮั้วไม่ได้ ซอย 5 บ้านคลองปอมไม่ได้ทำเพราะไม่มีฮั้ว” คำปราศรัยของจำเลยเป็นการมุ่งประสงค์ให้ผู้ฟังเข้าใจว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อ แต่พอเข้าใจได้ว่าคือ ส. ผู้สมัครรับเลือกตั้งแข่งกับจำเลย ไม่ดำเนินการให้มีการก่อสร้างถนนมุสลิมซอย 5 บ้านคลองปอม เพราะไม่มีการฮั้ว มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต จึงมีลักษณะเป็นการใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องการประมูลก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กถนนมุสลิม ซอย 5 เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นความผิดตามมาตรา 57 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และการปราศรัยของจำเลยที่ว่า “เรื่องส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม ถ้าผมได้จัดงานมั่นใจไหมครับ ถ้าผมจัดงานหรอยไม่หรอย (ดีไม่ดี) ชัวร์ไหมครับ เวทีผมไม่คิดเบี้ยเลย (ไม่คิดเงินเลย) ถ้าผมไปจัดงานให้ถ้ามีโอกาสก็จะจัดให้อลังการ 5 วัน 5 คืน 10 วัน 10 คืน โดยที่ทางวัดไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายไหร (อะไร) เลย” คำปราศรัยของจำเลยมีความหมายว่า จำเลยซึ่งมีอาชีพในการจัดเวทีและเครื่องเสียง ถ้าจำเลยเป็นผู้จัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม จำเลยจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ โดยจำเลยไม่คิดค่าเวที จึงเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่วัดที่เป็นเจ้าภาพจัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) (5), 118 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) (5) วรรคหนึ่ง, 118 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี และฐานกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองด้วยวิธีการใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด จำคุก 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด คงจำคุกกระทงละ 9 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 18 เดือน และฐานกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด คงจำคุก 9 เดือน รวมจำคุก 27 เดือน และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องฐานกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดในความผิดกระทงแรก คงลงโทษจำเลย 2 กระทง จำคุกกระทงละ 9 เดือน และปรับกระทงละ 15,000 บาท รวมจำคุก 18 เดือน และปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุและนายสุบิน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ โดยจำเลยได้รับหมายเลข 1 ส่วนนายสุบินได้รับหมายเลข 2 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ปราศรัยหาเสียงว่า “จะตั้งทนายประจำทีมและจะดำเนินการช่วยเหลือโดยการประกันตัวให้กับทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง” กับ “นายกมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่อย่าให้ใครมาซื้อซองเพราะซื้อซองฮั้วไม่ได้ซอย 5 บ้านคลองปอมไม่ได้ทำเพราะไม่มีฮั้ว” และ “เรื่องส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม ถ้าผมได้จัดงานมั่นใจไหมครับ ถ้าผมจัดงานหรอยไม่หรอย (ดีไม่ดี) ชัวร์ไหมครับ เวทีผมไม่คิดเบี้ยเลย (ไม่คิดเงินเลย) ถ้าผมไปจัดงานให้ถ้ามีโอกาสก็จะจัดให้อลังการ 5 วัน 5 คืน 10 วัน 10 คืน โดยที่ทางวัดไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายไหร (อะไร) เลย” ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ แต่หลังจากนั้นนายสุบินมีหนังสือถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลาคัดค้านการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุโดยกล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 โดยจำเลยได้กระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยหรือผู้สมัครอื่น จากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลามีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีพันตำรวจโทประเสริฐ เป็นประธานอนุกรรมการ ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลามีความเห็นว่า เห็นควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยและดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) (5), 97, 118 หลังจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 1 ปี ให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีบ้านพรุใหม่แทนจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่และให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันมีคำสั่งและให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุใหม่แทนจำเลย จากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสงขลาดำเนินการร้องทุกข์และดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การปราศัยหาเสียงของจำเลยว่า “จะตั้งทนายประจำทีมและจะดำเนินการช่วยเหลือโดยการประกันตัวให้กับทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง” เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) หรือไม่ เห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยมุ่งประสงค์จะช่วยเหลือในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล เพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังได้รับการปล่อยชั่วคราว นอกจากที่ตามปกติผู้ขอประกันจะต้องนำหลักทรัพย์ ซึ่งอาจต้องเสียเงินเช่าหลักทรัพย์หรือจัดซื้อกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ ดังนั้น การเสนอว่าจะใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุหรือตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับจำเลยเป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องปล่อยชั่วคราว ทั้งที่มิใช่งานในหน้าที่ตามกฎหมายของนายกเทศมนตรี จึงมีลักษณะเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย หาใช่เป็นเพียงนโยบายของกลุ่มของจำเลยที่จะให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 57 (1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การปราศรัยหาเสียงของจำเลยว่า “นายกมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่อย่าให้ใครมาซื้อซองเพราะซื้อซองฮั้วไม่ได้ ซอย 5 บ้านคลองปอมไม่ได้ทำเพราะไม่มีฮั้ว” เป็นการใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (5) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดเปรียบเปรยและเป็นการปรามมิให้มีการทุจริตในการประมูลงานก่อสร้างของรัฐ เพื่อมิให้มีการฮั้วประมูล ทั้งการปราศรัยของจำเลยมิได้ระบุชื่อผู้ใด จำเลยมิได้มีเจตนาใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุได้มีการประชุมวิสามัญสมัยที่ 2 ครั้งที่ 2/2550 มีมติให้เปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 โดยให้เปลี่ยนจากโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กถนนมุสลิม ซอย 5 หมู่ที่ 11 งบประมาณ 814,000 บาท เป็นโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนมุสลิมซอย 3 หมู่ที่ 11 งบประมาณ 963,000 บาท มิใช่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุเปิดประมูลแล้วยกเลิกการประมูลดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้งจำเลยก็อยู่ในที่ประชุมสภาย่อมทราบดีว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงงบประมาณแล้ว การที่จำเลยนำเรื่องดังกล่าวมาปราศัยหาเสียงในวันดังกล่าว โดยไม่มีหลักฐานการทุจริต คำปราศรัยของจำเลยจึงเป็นการมุ่งประสงค์ให้ผู้ฟังเข้าใจว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อแต่พอเข้าใจได้ว่าคือ นายสุบิน ผู้สมัครรับเลือกตั้งแข่งกับจำเลย ไม่ดำเนินการให้มีการก่อสร้างถนนมุสลิมซอย 5 บ้านคลองปอม เพราะไม่มีการฮั้ว มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต คำปราศรัยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องการประมูลก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กถนนมุสลิม ซอย 5 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นความผิดตามมาตรา 57 (5) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การปราศรัยหาเสียงของจำเลยที่ว่า “เรื่องส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม ถ้าผมได้จัดงานมั่นใจไหมครับ ถ้าผมจัดงานหรอยไม่หรอย (ดีไม่ดี) ชัวร์ไหมครับ เวทีผมไม่คิดเบี้ยเลย (ไม่คิดเงินเลย) ถ้าผมไปจัดงานให้ถ้ามีโอกาสก็จะจัดให้อลังการ 5 วัน 5 คืน 10 วัน 10 คืน โดยที่ทางวัดไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายไหร (อะไร) เลย” เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ปราศรัยต่อจากข้อความดังกล่าวว่า จำเลยมีเทคนิคในการจัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมโดยเก็บเงินจากร้านค้าแล้วนำวงเงินมาจ่ายค่าเวที หาใช่เป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินให้แก่วัดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย เห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยมีความหมายว่า จำเลยซึ่งมีอาชีพในการจัดเวทีและเครื่องเสียงถ้าจำเลยเป็นผู้จัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม จำเลยจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ โดยจำเลยไม่คิดค่าเวที คำปราศรัยของจำเลยจึงเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่วัดที่เป็นเจ้าภาพจัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย คำปราศรัยของจำเลยไม่มีข้อความตอนใดที่จะทำให้เข้าใจได้ว่า ข้อความที่จำเลยปราศรัยมีความหมายตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง ด้วยวิธีการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1) วรรคหนึ่ง, 118 กระทงแรกอีกกระทงหนึ่ง จำคุก 9 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9