คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8996/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กับจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และมีผลให้คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ตกไปด้วย แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธและอ้างเหตุป้องกันในข้อหาพยายามฆ่า
ระหว่างพิจารณา นายวีรเดช ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้อง 300,000 บาท และค่าเสียหายต่อร่างกาย เนื่องจากเส้นประสาทแขนซ้ายขาดพิการตลอดชีวิต และโจทก์ร่วมไม่สามารถประกอบการงานตามปกติเป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 12 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน คำให้การและทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 3 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 10 เดือน ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550) ตามคำขอของโจทก์ร่วมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม จำเลยไม่มีความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายวีรเดช โจทก์ร่วม 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณไหล่ซ้ายของโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส อาวุธปืนดังกล่าวจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คู่ความไม่ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า ขณะที่โจทก์ร่วมจอดรถจักรยานยนต์เพื่อซื้อของแต่กีดขวางทางเดินรถของจำเลย จำเลยจึงพูดขอให้โจทก์ร่วมขยับรถ โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมไม่ขยับรถให้ จำเลยจึงขับรถยนต์หลีกรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปจอดห่างประมาณ 3 เมตร แต่โจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยพูดว่าจอดรถขวางทำไมและนายวีระชัยที่มากับโจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยด่าเย็ดแม่ ขวางทำบ้าอะไร ไอ้เปรต โจทก์ร่วมจึงด่าจำเลยว่า ไอ้เปรตนี้ จากนั้นเมื่อโจทก์ร่วมซื้อของเสร็จแล้ว โจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์เลยไปจอดท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วลงจากรถจักรยานยนต์ตรงไปที่จำเลย แม้โจทก์ร่วมอ้างว่าเพื่อไปสอบถามจำเลยว่า ทำไมโจทก์ร่วมขยับรถจักรยานยนต์หลีกทางให้แล้วจึงมาจอดรถยนต์อยู่อีก แต่ตามพฤติการณ์ตั้งแต่จำเลยพูดขอให้โจทก์ร่วมขยับรถจักรยานยนต์จนกระทั่งจำเลยขับรถยนต์หลบรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วม น่าจะมีการพูดตอบโต้กระทบกระทั่งกันจนทำให้โจทก์ร่วมเกิดความไม่พอใจ จึงลงจากรถจักรยานยนต์เดินไปหาจำเลย ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อสอบถามดังที่โจทก์ร่วมอ้าง แต่น่าจะเป็นการเข้าไปหาเรื่องกับจำเลยมากกว่า เนื่องจากโจทก์ร่วมหนุ่มกว่าจำเลยและมีเพื่อนมาด้วยกัน เพราะเมื่อโจทก์ร่วมซื้อของเสร็จแล้วและจำเลยสามารถขับรถยนต์หลบรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมได้แล้ว ก็ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่โจทก์ร่วมจะต้องไปพูดคุยกับจำเลยอีกเพราะอาจเกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ ตามพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมถือได้ว่าโจทก์ร่วมสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กับจำเลย ส่วนกรณีของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ร่วมกับเพื่อนได้ถีบประตูรถของจำเลยและชกต่อยนางหนูกลิ่น ภริยาจำเลยหลายครั้ง โดยมีนางปานิต นางหนูแจ่มและนางดวงใจ พยานจำเลยเบิกความสนับสนุนนั้น ก็ไม่ปรากฏว่านางหนูกลิ่นได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมกับพวกในทันที แต่เพิ่งมาแจ้งความภายหลังจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและเป็นเวลาหลังเกิดเหตุถึงเดือนเศษ โดยขณะแจ้งความไม่ได้ระบุพยานผู้รู้เห็นฝ่ายตนคือ นางปานิต นางหนูแจ่มและนางดวงใจต่อพนักงานสอบสวน แต่เพิ่งนำมาสืบพยานในชั้นพิจารณาและเกี่ยวกับบาดแผลของนางหนูกลิ่นก็ไม่ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวน ในการแจ้งความครั้งแรกว่ามีบาดแผลฟกช้ำที่หน้าอก แต่เพิ่งมาแจ้งภายหลัง พยานหลักฐานจำเลยจึงมีพิรุธและไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้รับฟังว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ลงมือก่อเหตุก่อน อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องป้องกันตนเอง และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ร่วมเดินไปหาจำเลยซึ่งโจทก์ร่วมและนายวีระชัยอ้างว่าเมื่อโจทก์ร่วมเดินไปถึงหน้ารถของจำเลย จำเลยได้ลงจากรถยนต์แล้วยืนอยู่ข้างรถ จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม 1 นัด แม้จำเลยและนางหนูกลิ่นนำสืบว่า จำเลยนั่งอยู่ในรถยนต์โดยไม่ได้ลงจากรถแล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ แต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่จำเลยเคยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยเปิดประตูรถและเท้าข้างหนึ่งอยู่บนรถ ส่วนเท้าอีกข้างหนึ่งอยู่บนถนน ซึ่งคำให้การของจำเลยนี้ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุนั้นเอง ยังไม่ทันที่จำเลยจะคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงเพื่อให้ตนเองพ้นผิด มีเหตุผลน่ารับฟังยิ่งกว่าคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณา จากพฤติการณ์ของจำเลยเมื่อเห็นโจทก์ร่วมลงจากรถจักรยานยนต์เดินมาที่จำเลย จำเลยก็ลงจากรถยนต์แล้วใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม ขณะที่โจทก์ร่วมเดินมายังไม่ถึงตัวจำเลย ยังไม่ถือว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลยอันจำเลยจะใช้สิทธิป้องกันตนเองได้ เพราะหากจำเลยเพียงแต่ใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นท้องฟ้า โจทก์ร่วมกับพวกก็น่าจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
อนึ่ง เมื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมไว้ข้างต้นแล้วว่า โจทก์ร่วมสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กับจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ทั้งมีผลให้คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ตกไปด้วย แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนที่ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นศาลล่างทั้งสองให้เป็นพับ

Share