คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2937/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันระบุไว้เพียงว่าหากต. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ดีถึงแก่กรรมก็ดีไปจากถิ่นฐานที่อยู่หรือหาตัวไม่พบก็ดีหรือมีกรณีอื่นใดอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชดใช้เงินแล้วจำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้แทนให้จนครบจำนวนโดยไม่ได้มีข้อความระบุว่าผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ข้อตกลงที่ว่าหากต.ถึงแก่กรรมจำเลยจะชำระหนี้แทนไม่ใช่ข้อยกเว้นที่จำเลยยอมสละสิทธิที่จะไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้เมื่อต.ถึงแก่ความตายจำเลยผู้ค้ำประกันจึงยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754วรรคสามขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 140 เดิมนายตระกูล ศรีสร้างคอม บิดาจำเลยเป็นสมาชิกและดำเนินการเป็นผู้จัดการกลุ่มของโจทก์ และได้ทำเงินขาดบัญชีไป66,250.75 บาท จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ว่าจะชำระเงิน66,250.75 บาท ให้โจทก์ แบ่งชำระ 165 งวด โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาค้ำประกันแล้วนายตระกูลชำระหนี้ให้โจทก์จนถึงเดือนสิงหาคม 2529 ต่อมาปลายปี 2529 โจทก์ทราบว่านายตระกูลถึงแก่กรรม จำเลยยังนำเงินมาผ่อนชำระให้โจทก์จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2531 รวมเป็นเงิน 5,200 บาท หลังจากนั้นไม่ชำระให้โจทก์อีก รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระจำนวน75,956 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 75,956 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 61,050 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายตระกูล ศรีสร้างคอม ถึงแก่กรรมตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งโจทก์ทราบดี โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือแจ้งให้ทายาทของนายตระกูลชำระหนี้โจทก์จนล่วงพ้นกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่โจทก์ได้รู้ว่านายตระกูลถึงแก่กรรม คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผู้ค้ำประกันจึงเป็นอันขาดอายุความด้วยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 75,956 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 61,050 บาทนับจากวันฟ้องขนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า แม้หนี้จะขาดอายุความ แต่จำเลยก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดเพราะโจทก์จำเลยได้ทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้าแล้วจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นายตระกูล ศรีสร้างคอม บิดาจำเลยได้บริหารกิจการทำให้เงินของโจทก์ขาดบัญชีไปจำนวน66,250.75 บาท จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2529 โดยผ่อนชำระงวดละ 400 บาท รวม 165 งวด โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.2 และหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 นายตระกูลและจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วรวม 13 งวดเป็นเงิน 5,200 บาท แล้วไม่ชำระคงค้างจำนวน 61,050 บาท วันที่ 20 สิงหาคม 2530 นายตระกูลได้ถึงแก่ความตายซึ่งโจทก์ก็ทราบตั้งแต่วันดังกล่าว และโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 2 สิงหาคม 2534 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องทายาทของนายตระกูลลูกหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่ทราบถึงความตายของนายตระกูลเป็นเหตุให้หนี้รายนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามซึ่งบัญญัติเป็นใจความว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีเช่นนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอาจยกข้อ ต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ระบุไว้เพียงว่าหากนายตระกูลไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ดี ถึงแก่กรรมก็ดีไปจากถิ่นฐานที่อยู่หรือหาตัวไม่พบก็ดี หรือมีกรณีอื่นใดอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชดใช้เงินแล้ว จำเลยจะเป็นผู้รับผิดชดใช้แทนให้จนครบจำนวนเท่านั้นโดยไม่ได้มีข้อความระบุว่าผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้แต่ประการใด ข้อตกลงที่ว่าหากนายตระกูลถึงแก่กรรมจำเลยก็จะชำระหนี้แทน ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นข้อตกลงล่วงหน้านั้น ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่จำเลยยอมสละสิทธิที่จะไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ดังที่โจทก์เข้าใจ จำเลยจึงยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน

Share