แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฉบับเดียวกันไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยชอบ 2 ครั้ง ครั้งแรกส่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของโจทก์ มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ครั้งที่สองส่งไปยังสถานประกอบการของนายจ้างตามที่โจทก์แจ้งไว้ในคำอุทธรณ์ว่าเป็นสถานที่ติดต่อได้สะดวก มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 การนับเวลานำคดีไปสู่ศาลต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงให้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ครั้งที่สอง
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยพอแปลได้ว่า เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั่นเอง
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งอยู่ในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ (ครั้งที่สอง) ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีสภาพนิติบุคคลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้ระยะเวลาโจทก์มาฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 อันเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นสมควรขยายระยะเวลาการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์จำนวน 80,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จึงเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิของโจทก์ แพทย์ที่รักษาลงความเห็นว่า อาการของโจทก์เป็นลำไส้อักเสบจึงรักษาโดยฉีดยาให้ 1 เข็ม และให้ยาไปรับประทานที่บ้าน หลังจากนั้นอาการปวดท้องไม่ทุเลาแต่กลับมีอาการปวดมากขึ้นและมีอาการอาเจียน โจทก์หมดสติ เพื่อนนำโจทก์ส่งโรงพยาบาลซึ่งเป็นโรงพยาบาลใกล้ที่สุดห่างจากบ้านพักประมาณ 1 กิโลเมตร โจทก์มารู้สึกตัวที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจอาการและเอกซเรย์พบว่า อาการของโจทก์ไม่ได้เป็นลำไส้อักเสบ แต่เป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันใกล้จะแตก แพทย์ให้การรักษาโดยผ่าตัด โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งสิ้นเป็นเงิน 80,000 บาท โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 1175/2551 เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังบ้านเลขที่ 15/2 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของโจทก์ แต่ระหว่างที่รอผลการส่งคำวินิจฉัยดังกล่าว เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ส่งหนังสือแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซ้ำอีกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังบ้านเลขที่ 13/6 หมู่ที่ 2 ถนนหาดเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นสถานที่ประกอบการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสมุยไซเบอร์ซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์ ผลการส่งคำวินิจฉัยฉบับที่ส่งไปบ้านเลขที่ 15/2 ตอบกลับมาโดยมีนายสนธยา ลงลายมือชื่อรับแทนเกี่ยวพันกับผู้รับเป็นพนักงานโดยรับไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ส่วนผลการส่งคำวินิจฉัยฉบับที่ส่งไปบ้านเลขที่ 13/6 มีพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดสมุยไซเบอร์ ลงลายมือชื่อในบัญชีการจ่ายรับเอกสารแทนโจทก์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 ช่วงที่มีอาการป่วยนั้นโจทก์พักอาศัยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน เมื่อออกจากโรงพยาบาลโจทก์ย้ายไปพักอาศัยที่บ้านเลขที่ 124/2 หมู่ที่ 3 ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นบ้านพักของพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดสมุยไซเบอร์ แล้วโจทก์ไม่ได้กลับไปพักอาศัยตามที่อยู่ทะเบียนบ้านอีกแต่ก็ไม่ได้ย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ทั้งไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนที่อยู่ นอกจากนี้โจทก์ระบุสถานที่ติดต่อได้โดยสะดวกคือ บ้านเลขที่ 13/6 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามคำอุทธรณ์ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีภูมิลำเนาหลายแห่ง ถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแรกวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง และครั้งที่สองโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้วันที่ 4 มีนาคม 2553 เกินกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์รู้สิทธิแห่งการฟ้องคดีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ครั้งที่สอง ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีแรกภายในกำหนด 30 วัน แต่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสภาพนิติบุคคลแล้วพิพากษายกฟ้อง เป็นผลให้อายุความฟ้องร้องผู้ต้องรับผิดขยายออกไปอีก 6 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฉบับเดียวกันที่มีข้อความว่า “หากท่านไม่พอใจคำวินิจฉัยดังกล่าว ท่านมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนี้” ไปยังโจทก์ทราบทางไปรษณีย์ตอบรับลงทะเบียน 2 ครั้ง ปรากฏว่าเป็นการส่งโดยชอบทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกส่งไปยังทะเบียนบ้านของโจทก์ซึ่งมีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 และครั้งที่สองส่งไปยังสถานประกอบการของนายจ้างตามที่โจทก์แจ้งไว้ในคำอุทธรณ์ว่า เป็นสถานที่ติดต่อได้โดยสะดวกซึ่งมีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 กรณีมีข้อสงสัยว่าจะใช้ผลการแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ครั้งใด อาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความเป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ การตีความเกี่ยวกับการเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องจึงต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ ดังนั้นจึงให้เริ่มนับแต่วันที่ถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ครั้งที่สอง ทั้งการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวแม้จะฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลย แต่ก็พอแปลได้ว่าเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามที่อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งโจทก์มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย การที่โจทก์มาฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์โดยฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจำเลยในคดีแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ถือว่าอยู่ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจำเลยในคดีแรกได้ แต่ศาลแรงงานภาค 8 กลับวินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีสภาพนิติบุคคลจึงพิพากษายกฟ้องโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ฟ้องคดีใหม่ ต่อมาโจทก์ต้องมาฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลยคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 แม้ว่าการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่ใช่กรณีการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิด ทำให้โจทก์ไม่อาจอ้างเป็นเหตุให้มีการขยายระยะเวลาการฟ้องคดีออกไปได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 7 วรรคสอง ดังที่โจทก์อุทธรณ์มา อย่างไรก็ตามระยะเวลาการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นเรื่องกำหนดระยะเวลาฟ้องคดี เมื่อพิจารณาประกอบกับเหตุที่โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ที่สืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 8 ในคดีแรกที่วินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้ระยะเวลาโจทก์มาฟ้องคดีใหม่ อันเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อให้โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบหรือไม่และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ เพียงใด จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8 ให้ศาลแรงงานภาค 8 พิจารณาในประเด็นข้อพิพาทข้างต้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี