คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเคยยกคำร้องขอของผู้ร้องมาครั้งหนึ่งเพราะเห็นว่าการที่หุ้นของผู้ตายตกเป็นของแผ่นดินมิใช่เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยเห็นว่าผู้ร้องยังสามารถขวนขวายหาทางร้องขอเพื่อรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลังได้ แต่ประเด็นสำคัญในคดีนี้มีอยู่ว่า ภายหลังต่อมาผู้ร้องได้ร้องขอรับชำระหนี้ต่อกระทรวงการคลังแล้ว แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้และแจ้งให้ผู้ร้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน อันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องแล้ว เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน และศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยถึงเหตุขัดข้องอันเกิดแต่การที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้ คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำ
ผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม หุ้นของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753 แผ่นดินหาใช่ทายาทของผู้ตายไม่ดังนั้นแม้หุ้นของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นายดิง ซัน คุน หรือเต็ง ซิว โฮ้ว ลูกหนี้ของผู้ร้องถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2540 โดยมิได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ตายไม่มีทายาทที่จะรับมรดก ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่แผ่นดินผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกจึงร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อนำทรัพย์มรดกของผู้ตายมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ทั้งนี้ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก

ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายและผู้ร้องยังไม่ได้รับชำระหนี้แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากผู้ตายไม่มีทายาท มรดกของผู้ตายตกทอดแก่แผ่นดินคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องมาร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นคดีนี้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันซึ่งเป็นฟ้องซ้ำ คดีของผู้ร้องต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…แม้ศาลชั้นต้นจะเคยยกคำร้องขอของผู้ร้องมาครั้งหนึ่งโดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย เนื่องจากผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้ต่อแผ่นดินได้ก็ตามแต่เหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเช่นนั้นก็เพราะเห็นว่าการที่หุ้นของผู้ตายตกเป็นของแผ่นดินมิใช่เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยเห็นว่าผู้ร้องยังสามารถขวนขวายหาทางร้องขอเพื่อรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลังได้ แต่ประเด็นสำคัญในคดีนี้มีอยู่ว่า ภายหลังต่อมาผู้ร้องได้ร้องขอรับชำระหนี้ต่อกระทรวงการคลังแล้ว แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้และแจ้งให้ผู้ร้องไปดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายก่อน อันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องแล้ว เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน และศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยถึงเหตุขัดข้องอันเกิดแต่การที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้คำร้องขอของผู้ร้องไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นเนื่องจากศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีความประพฤติเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม หุ้นของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753อย่างไรก็ตามแผ่นดินหาใช่ทายาทของผู้ตายไม่ ดังนั้น แม้หุ้นของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ ดังจะเห็นได้จากการที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมนำเงินค่าหุ้นของผู้ตายมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ไม่สมควรหรือเป็นบุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ประกอบกับไม่มีผู้ใดคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องจึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”

พิพากษากลับว่า ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนายดิง ซัน คุน หรือเต็ง ซิว โฮ้ว ผู้ตายโดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของผู้ตายเพื่อชำระหนี้ผู้ร้องต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

Share