แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ชำระภาษีไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์นำดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ยืมที่โจทก์กู้ยืมจากสถาบันการเงินมาซื้อที่ดินให้ผู้อื่นเช่าซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์คำนวณกำไรสุทธิและเสียภาษีไม่ถูกต้อง แต่ในชั้นตรวจสอบภาษีอากรโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีด้วยดีตลอดมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงมีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์ ประกอบกับปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไปมาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ทั้งนี้เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามความประสงค์ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในคดีนี้ แม้ว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่มีผลให้โจทก์ได้รับผลประโยชน์นี้เนื่องจากออกบังคับใช้ในภายหลังก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สมควรจะลดเบี้ยปรับลงได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารมาซื้อที่ดินให้บริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ไทยแลนด์ จำกัด เช่าทำประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2533 ซึ่งขณะนั้นที่ดินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะให้เช่าโดยโจทก์มีรายได้อย่างเดียวคือค่าเช่าที่ดินจากบริษัทดังกล่าวซึ่งนำมาจ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม โจทก์ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารตามปกติระหว่างปี 2532 ถึง 2536 โดยดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะนำที่ดินออกให้เช่าโจทก์บันทึกเป็นต้นทุนของที่ดิน ส่วนดอกเบี้ยหลังจากที่ได้ให้เช่าที่ดินแล้วได้บันทึกเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี จำเลยได้ตรวจสอบภาษีของโจทก์ แจ้งว่าโจทก์มีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป ต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวจึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยและได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่อุทธรณ์การประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ที่กำหนดให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีมารวมเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ ดอกเบี้ยเงินกู้จากการกู้เงินไปซื้อที่ดินที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ที่โจทก์มีรายได้จากการนำที่ดินออกให้เช่าและได้รายได้เป็นค่าเช่าที่ดินมา จึงเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้ค่าเช่าในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี การที่จำเลยอ้างว่ารายจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) ไม่ให้นำไปถือเป็นรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เป็นผลให้โจทก์มีแต่รายได้แต่ไม่มีรายจ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้จึงไม่ถูกต้องและขัดกับหลักการในการคำนวณภาษีเงินได้ดังกล่าวข้างต้น ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงไม่ควรตีความว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน คดีนี้โจทก์ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบตลอดจนไปให้การและส่งเอกสารหลักฐานตามที่จำเลยต้องการ ทั้งโจทก์เสียภาษีด้วยดีมาตลอดไม่เคยถูกตรวจสอบมาก่อน และประเด็นเรื่องรายจ่ายต้องห้ามในคดีนี้เป็นเรื่องปัญหาการตีความกฎหมายซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หากศาลเห็นว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในคดีนี้เป็นรายจ่ายต้องห้ามแล้วก็ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ด้วย จึงขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้องจึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 1037/2/101141 และ 101142 ลงวันที่ 18 มีนาคม2539 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.3 (อธ.2)/506 และ 508/2543ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2543 เฉพาะเบี้ยปรับโดยให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับเพียงร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประเด็นเดียวว่า มีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ชำระภาษีไม่ถูกต้องก็เนื่องจากการที่โจทก์นำดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ยืมที่โจทก์กู้ยืมจากสถาบันการเงินมาซื้อที่ดินให้ผู้อื่นเช่า ซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (5) มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์คำนวณกำไรสุทธิและเสียภาษีไม่ถูกต้องประกอบกับข้อเท็จจริงยุติตามคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางว่าในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ความว่า ในชั้นตรวจสอบภาษีอากร โจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีด้วยดีตลอดมา พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงมีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้โจทก์ได้ ประกอบกับในปัจจุบันนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป มาตรา 3ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามความประสงค์ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่พิพาทในคดีนี้ แม้ว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่มีผลถึงกรณีของโจทก์ เนื่องจากออกบังคับใช้ในภายหลัง อันเป็นผลทำให้โจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์นี้ก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สมควรจะลดเบี้ยปรับลงได้อีก ที่ศาลภาษีอากรกลางลดเบี้ยปรับเหลือร้อยละ 30ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้น จึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน