คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1237นั้นมิได้กำหนดไว้ให้ต้องทำเป็นคำร้องขอโจทก์ทั้งเจ็ดจึงชอบที่จะขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่1โดยทำเป็นคำฟ้องได้และตามคำฟ้องจำเลยที่2ถึงที่4และที่6เป็นกรรมการจำเลยที่2ถึงที่7ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่1มากกว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้บริหารบริษัทจำเลยที่1ขาดทุนจนไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา55แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1251มิได้มุ่งหมายให้ผู้ที่เป็นกรรมการของบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทเสมอไปไม่เพราะมีข้อยกเว้นไว้ว่าหากมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นผู้ชำระบัญชีของบริษัทก็จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับนั้นๆและหากกรรมการของบริษัทไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีได้ไม่ว่าด้วยประการใดๆและข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้กรณีย่อมต้องด้วยวรรคสองของมาตรา1251คือไม่มีผู้ชำระบัญชีผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้มิฉะนั้นบทบัญญัติมาตรา1251ย่อมไร้ผลเมื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่1ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีเหตุไม่ลงรอยกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่1กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1251วรรคสองได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เลิกบริษัทเข้งหงวนจำกัด จำเลยที่ 1 และให้ตั้งนายจำรัส ปิงคลาศัย เป็นผู้ชำระบัญชีตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่าโจทก์ทั้งเจ็ดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพียงฝ่ายเดียวด้วยการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237มิใช่ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาล จำเลยทั้งเจ็ดไม่เห็นด้วยที่จะตั้งนายจำรัส ปิงคลาศัย เป็นผู้ชำระบัญชีเพราะไม่เชื่อในความสามารถและความสุจริต หากมีความจำเป็นจำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3และที่ 6 เป็นผู้ชำระบัญชี และหรือให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาตศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เลิกบริษัทเข้งหงวน จำกัดให้นายจำรัส ปิงคลาศัย เป็นผู้ชำระบัญชี
จำเลย ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และ ที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 6, และ ที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะฟ้องคดีนี้บริษัทจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท โดยมีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4และจำเลยที่ 6 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยกรรมการคนใดคนหนึ่งของบริษัทจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ แต่ถ้าเป็นเอกสารการเงิน อสังหาริมทรัพย์และสัญญาต่าง ๆ จะต้องมีจำเลยที่ 2ที่ 3 หรือที่ 4 คนใดคนหนึ่งกับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 หรือที่ 3 คนใดคนหนึ่ง กับโจทก์ที่ 5 ที่ 6 หรือจำเลยที่ 6 คนใดคนหนึ่งร่วมกันลงลายมือชื่อรวมกัน 3 คน และประทับตามสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1ได้ ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี2533 บริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนทุกปีรวมขาดทุนสะสม 2 6,173,541.75 บาทปรากฏตามงบดุลเอกสารหมาย จ.10 ถึงจ.13 และปจ.1 ถึง ป.จ.3และขาดทุนสะสมต่อมาจนถึงปี 2536 รวมเป็นทั้งสิ้นประมาณ30 ล้านบาทเศษ รายได้หลักของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้มาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก แต่ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจำเลยที่ 1 หยุดทำเหมืองแร่ปรากฏตามใบอนุญาตหยุดการทำเหมืองแร่เอกสารหมาย จ.15มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 โดยทำเป็นคำฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237หรือไม่ จำเลยดังกล่าวฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิต่อโจทก์ทั้งเจ็ด กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่โจทก์จะเสนอเป็นคำฟ้องได้ โจทก์ทั้งเจ็ดชอบที่จะทำเป็นคำร้องขอนั้นเห็นว่าการขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 นั้น มิได้กำหนดไว้ให้ต้องทำเป็นคำร้องขอ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงชอบที่จะขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 โดยทำเป็นคำฟ้องได้ และตามคำฟ้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4และที่ 6 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 มากกว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้บริหารบริษัทจำเลยที่ 1ขาดทุนจนไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ในประการต่อไปมีว่า ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานหลักฐานและพิพากษานอกประเด็นหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่ากรรมการฝ่ายจำเลยได้บริหารงานบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทและไม่สุจริตทำให้บริษัทจำเลยที่ 1 ต้องประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันเกินกว่า1 ปี และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้ แต่ศาลล่างทั้งสองกลับวินิจฉัยว่า น่าเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมกับฝ่ายจำเลย กิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 คงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จึงทำให้เกิดการของบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีเศษ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกฟ้องและนอกประเด็นนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดได้บรรยายฟ้องไว้แจ้งชัดว่าเหตุแห่งการขอให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 เนื่องจากบริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนตั้งแต่ปี 2528จนถึงปี 2531 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 21,273,670.10 บาท และไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้ ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการขาดทุนติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี และไม่มีทางหวังจะฟื้นตัวได้หรือไม่ ส่วนที่อ้างมาในคำฟ้องตอนแรกว่าเป็นเพราะกรรมการฝ่ายจำเลยบริหารบริษัทจำเลยที่ 1 ปราศจากความระมัดระวังไม่รอบคอบและไม่สุจริตนั้นเป็นเพียงเหตุผลประกอบเท่านั้น ไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรง ข้อวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองจึงไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกฟ้องและนอกประเด็น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ในประการต่อไปมีว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีทางหวังจะกลับฟื้นตัวได้และสมควรเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเป็นที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท การที่บริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนอยู่เป็นเงินเพียง 26 ล้านบาทเศษน่าจะแก้ไขได้หากได้รับความร่วมมือจากกรรมการฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแต่กรรมการและผู้ถือหุ้นฝ่ายโจทก์นอกจากจะไม่ยอมใช้ความรู้ความสามารถเข้าช่วยเหลือบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว ยังพยายามขัดขวางมิให้ฝ่ายจำเลยแก้ไขปัญหาได้ และกลับปล่อยให้บริษัทจำเลยที่ 1 ขาดทุนตลอดเวลานั้น จากฎีกาของจำเลยดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้เสนอหนทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาขาดทุนของจำเลยที่ 1 แล้ว กลับเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีทางที่จะกลับฟื้นตัวให้มีกำไรหรือระงับการขาดทุนต่อไปได้ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นสมควรให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ในประการสุดท้ายว่า จะตั้งนายจำรัส ปิงคลาศัยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่และสมควรตั้งนายจำรัสเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 หรือไม่จำเลยดังกล่าวฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดให้หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนหรือกรรมการของบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีได้ตามกฎหมายจึงไม่อาจตั้งนายจำรัสเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1และหากมีเหตุอันควรจะต้องเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3และที่ 6 ในฐานะกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเป็นผู้ชำระบัญชีเองนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 มิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้ที่เป็นกรรมการของบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทเสมอไปไม่ เพราะมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าหากมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ชำระบัญชีของบริษัทก็จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับนั้น ๆ และถ้าหากกรรมการของบริษัทไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ และข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ กรณีย่อมต้องด้วยวรรค 2ของมาตรา 1251 นี้ คือไม่มีผู้ชำระบัญชี ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้ มิฉะนั้นบทบัญญัติของมาตรา 1251ย่อมไร้ผลไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่กรณีใด ๆ ได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่ากรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีเหตุไม่ลงรอยกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้ และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 วรรคสอง ได้ นายจำรัส ปิงคลาศัยจบการศึกษาทางด้านบัญชีและเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทั้งเต็มใจที่จะเป็นผู้ชำระบัญชีให้บริษัทจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และตั้งนายจำรัส ปิงคลาศัย เป็นผู้ชำระบัญชีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน

Share