แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยตระเวนเก็บค่าจอดรถจากผู้ที่นำรถยนต์มาจอดโดยไม่มีสิทธิ ย.ขับรถยนต์สามล้อมาจอด เมื่อจำเลยขอเงินจำนวน 10 บาท เป็นค่าจอดรถ ย. ไม่ให้ จำเลยขู่ว่าถ้าจะจอดที่นี่ต้องเสียเงินถ้าไม่ให้เงินจะต่อย ย. จึงให้เงิน10 บาท แก่จำเลย ส่วนบ.ขับรถยนต์แท็กซี่มาจอดจำเลยเข้ามาขอเงินจำนวน 10 บาท เป็นค่าจอดรถ บ.ไม่ยอมให้ จำเลยบอกว่าถ้าไม่ให้ก็ไม่ต้องจอดและ นำมีดปลายแหลมออกมาจ่อที่ไหล่ แล้วพูดขู่ให้ส่งเงิน การที่ ย.กลัวว่าจะถูกต่อยจึงมอบเงินให้จำเลยไปก็ดีและบ.ยอมจ่ายเงินให้จำเลยเนื่องจากกลัวว่าจำเลยจะใช้มีดแทง แต่จำเลยยังไม่ได้เงินจากบ.ก็ดี แม้จำเลยจะไม่มีอำนาจเรียกเก็บค่าจอดรถแต่จำเลยก็มิได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตั้งแต่ต้นเงินที่จำเลยเรียกเก็บเท่ากันทุกรายและมิได้ขู่เข็ญเอาเงินเกินไปจากนี้ เพียงแต่ว่าหากไม่ให้ก็ต้องนำรถไปจอดที่อื่นหรือ หากยืนยันจะจอดจำเลยจึงขู่เข็ญจะทำร้ายผู้ที่ไม่ยอมจ่ายเงินให้เท่านั้น ย. และบ. ยังสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้เงินจำเลยหรือไม่ การขู่เข็ญจึงมีเงื่อนไขมิได้มีเจตนาแย่งการครอบครองเงินของ ย. และบ.โดยตรง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ แต่เป็นการข่มขืนใจให้ยอมมอบให้หรือยอมจะให้เงินค่าจอดรถ แก่จำเลยโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของ ย. และบ. จนยอมตามจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่ม ไปที่ถนนสุขุมวิท อันเป็นบริเวณในเมือง และทางสาธารณะ โดยปราศจากเหตุอันควร และจำเลยได้ชิงทรัพย์เอาเงินสดของนายยัน เพริดพริ้งและนายบุญเลี้ยง ดอนสมาน ผู้เสียหายทั้งสองไปคนละ 10 บาท โดยจำเลยพูดขู่เข็ญนายยันว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายและแสดงท่าทางจะให้กำลังทำร้าย กับใช้อาวุธมีดปลายแหลมที่กล่าวข้างต้นจี้ข่มขู่มิให้นายบุญเลี้ยงผู้เสียหายขัดขืนมิฉะนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อสะดวกแก่การชิงทรัพย์ พาเอาทรัพย์ไปยื่นให้ซึ่งทรัพย์ หรือยึดถือเอาทรัพย์ไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 371, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 371 ประกอบมาตรา 80, 91 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานชิงทรัพย์นายยันจำคุก 12 ปี ฐานพยายามชิงทรัพย์นายบุญเลี้ยงจำคุก 8 ปีฐานพาอาวุธมีดปรับ 100 บาท รวมจำคุก 20 ปี และปรับ100 บาท ริบอาวุธมีดและสมุดรายการเก็บเงิน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (1)(2)ประกอบด้วยมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือนรวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันว่า คืนเกิดเหตุจำเลยได้ออกตระเวนเก็บเงินค่าจอดรถจากนายยัน เพริดพริ้งและนายบุญเลี้ยง ดอนสนาม ผู้เสียหายทั้งสองและผู้ที่นำรถยนต์แท็กซี่รับจ้างหรือรถยนต์สามล้อรับจ้างมาจอดบริเวณที่เกิดเหตุโดยจำเลยมีสมุดบันทึกติดตัวมา 1 เล่า เพื่อบันทึกว่าผู้ใดได้จ่ายเงินค่าจอดรถแล้วหรือไม่ เงินที่จำเลยเก็บเป็นเงิน10 บาท เท่ากันทุกรายและมิได้ขู่เข็ญเอาเงินจากผู้ขับรถมากเกินไปกว่านี้เพียงแก่ว่าหากผู้ขับรายใดไม่ให้เงินค่าจอดรถก็ต้องนำรถไปจอดที่บริเวณอื่นหรือหากยืนยันจะจอดรถในบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยจึงขู่เข็ญจะทำร้ายผู้ขับรถไม่ยอมจ่ายเงินให้เท่านั้น โดยจำเลยอ้างอำนาจว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยเป็นผู้เก็บเงินค่าจอดรถสำหรับนายยัน เพริดพริ้ง ผู้เสียหายที่ 1 ขับรถยนต์สามล้อรับจ้างมาจอด เมื่อจำเลยมาขอเงินจำนวน 10 บาทเป็นค่าจอดรถ ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ให้ จำเลยขู่ว่าถ้าจะจอดที่น่าต้องเสียเงินถ้าไม่ให้เงินจะต่อย ผู้เสียหายที่ 1 จึงให้ธนบัตรเป็นเงิน 10 บาทแก่จำเลย ส่วนนายบุญเลี้ยง ดอนสนามผู้เสียหายที่ 2 ขับรถยนต์แท็กซี่รับจ้างมาจอด จำเลยเข้ามาขอเงินจากผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 10 บาท เป็นค่าจอดรถครั้งแรกผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมให้จำเลยบอกว่าถ้าไม่ให้ก็ไม่ต้องจอดและนำอาวุธมีดปลายแหลมออกมาจ่อห่างจากไหล่ผู้เสียหายที่ 2 ประมาณ 7 ถึง 8 นิ้ว แล้วพูดขู่ให้ส่งเงินให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะทำร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยผู้เสียหายที่ 1ได้มอบเงินให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่ได้ให้เงินแก่จำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยพูดขู่ผู้เสียหายที่ 1 ว่าถ้าจอดรถที่นี่ต้องเสียก่อนถ้าไม่ให้เงินจะต่อย ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวว่าจะถูกจำเลยต่อยจึงมอบเงินจำนวน 10 บาท ให้จำเลยไปก็ดี การที่จำเลยขอเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหายที่ 2จำนวน 10 บาท เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมให้จำเลยก็บอกว่าถ้าไม่ให้ก็ไม่ต้องจอดแล้วนำอาวุธมีดปลายแหลมมาจ่อห่างจากไหล่ผู้เสียหายที่ 2 ประมาณ 7 ถึง 8 นิ้ว แล้วพูดขู่ให้ส่งเงินให้ผู้เสียหายที่ 2 ยอมจ่ายให้จำเลยเนื่องจากความกลัวว่าจำเลยจะใช้มีดแทง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยยังไม่ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 ก็ดี แม้จำเลยจะไม่มีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหายทั้งสองและขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะทำร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสองแต่จำเลยก็มิได้ขู่เข็ญว่าจะทำร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้ที่ขับรถมาจอดรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสองตั้งแต่ต้น แสดงว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายขู่บังคับเอาเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหายทั้งสองโดยตรงมาแต่แรกเงินที่จำเลยเรียกเก็บเป็นเงินจำนวน 10 บาท เท่ากันทุกรายและมิได้ขู่เข็ญเอาเงินจากผู้ขับรถมากเกินไปจากนี้ เพียงแต่ว่าหากผู้ขับรถรายใดไม่ให้ค่าจอดรถก็ต้องนำรถไปจอดที่บริเวณอื่นหรือหากยืนยันจากจอดรถในบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยจึงขู่เข็ญจะทำร้ายผู้ขับรถที่ไม่ยอมจ่ายเงินให้เท่านั้น ซึ่งผู้ขับรถและผู้เสียหายทั้งสองยังสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้เงินจำเลยก็ได้หรือไม่ให้ก็ได้ หากไม่ให้เงินก็นำรถไปจอดที่อื่น มิฉะนั้นอาจถูกจำเลยทำร้ายตามที่จำเลยขู่การขู่เข็ญของจำเลยจึงเป็นการขู่โดยมีเงื่อนไขดังกล่าว จำเลยจึงมิได้มีเจตนาแย่งการครอบครองเงินของผู้เสียหายทั้งสองโดยตรงการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่อาจเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสองให้ยอมมอบให้หรือยอมจะให้เงินค่าจอดรถแก่จำเลยโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของผู้เสียหายทั้งสองจนผู้เสียหายทั้งสองยอมตามจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน