คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์ของส.ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยความประมาทของจำเลยในวันเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์มีต่อส. ยังมีผลบังคับอยู่โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ส. แม้ส. จะได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยยอมให้จำเลยซ่อมรถยนต์ของส. ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมภายหลังจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยครบกำหนดแล้วก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิของส. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่แก่จำเลยในการที่จะเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยยังคงมีอยู่หาได้สิ้นสิทธิไปเพราะการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยกับส. ไม่เพราะบันทึกข้อตกลงที่จำเลยยอมซ่อมรถยนต์ของส. เป็นข้อตกลงที่ผูกพันเฉพาะจำเลยกับส. เมื่อจำเลยยังมิได้ปฎิบัติตามสัญญาหาได้มีผลทำให้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับส.สิ้นผลไปด้วยไม่ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ส.ผู้เอาประกันภัยไปแล้วโจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของส. ฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา227โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าส. ผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยผู้ทำละเมิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวทำให้มูลหนี้ละเมิดสิ้นไปโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำมูลหนี้ละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิในมูลหนี้ละเมิดส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยในฐานะที่โจทก์รับช่วงสิทธิของส. มาตามมูลหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ส.ผู้เอาประกันภัยมีต่อจำเลยมิใช่ฟ้องในมูลหนี้ละเมิดจึงเป็นการฟ้องคนละประเด็นกันฉะนั้นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา148 โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของส. ผู้เอาประกันภัยอันมีต่อจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ส.ทำไว้กับจำเลยมิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลยตามสัญญาประกันภัยสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะจึงต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา193/30แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีอายุความ10ปีนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีของต้นเงิน261,100บาทนับแต่วันที่13กุมภาพันธ์2535เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(วันที่8มีนาคม2537)ให้ไม่เกิน58,777.45บาทตามที่โจทก์ขอหมายความว่าศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยจากวันที่13กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่8มีนาคม2537ซึ่งเป็นวันฟ้องให้โจทก์เท่าจำนวนที่คำนวณได้จริงแต่ถ้าคำนวณแล้วได้ดอกเบี้ยเกิน58,777.45บาทก็คงให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์เพียง58,777.45บาทเท่าที่โจทก์ขอมาที่จำเลยอ้างว่าจำเลยคำนวณดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์นับแต่วันที่13กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่8มีนาคม2537ได้เพียง40,796บาทโจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเกินจำนวน40,796บาทได้นั้นเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงยังฟังยุติไม่ได้ว่าจำเลยคำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่13กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่8มีนาคม2537ถูกต้องตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่จึงสมควรให้เป็นภาระของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้มีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่จะคิดคำนวณ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ธ-5839 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายสยาม ประสิทธิศิริกุลผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสยามต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า จำเลยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายสยามในกรณีที่จำเลยขับรถยนต์ชนรถยนต์ของนายสยามคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โดยจำเลยจะซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยหลังจากนั้นจำเลยไม่ได้จัดการนำรถยนต์ไปซ่อมตามที่ตกลง นายสยามจึงเรียกร้องให้โจทก์ซ่อมรถยนต์ให้ตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์จึงใช้ค่าสินไหมทดแทน 400,000 บาท ให้แก่นายสยามเต็มตามกรมธรรม์ประกันภัยแทนการซ่อมรถยนต์ นายสยามรับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว และได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ว่าจ้างซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว เสียค่าจ้างไป279,377 บาท เมื่อซ่อมเสร็จแล้วโจทก์นำรถยนต์คันนั้นออกขายได้ราคา 300,000 บาท ซึ่งมากกว่าค่าซ่อมที่โจทก์เสียไปเพียง20,623 บาท โจทก์ยังขาดเงินที่ได้จ่ายไปเพราะจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความอีก 379,377 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของนายสยามฟ้องให้จำเลยชำระเงิน 379,377 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์2535 ถึงวันฟ้องเป็นค่าดอกเบี้ย 58,777.45 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของต้นเงิน 379,377 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย และโจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะเข้ารับช่วงสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จะรับช่วงสิทธิได้แต่เฉพาะในมูลหนี้ละเมิดเท่านั้น ซึ่งมูลหนี้ละเมิดระงับไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความ วันที่16 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ครบกำหนดและสิ้นผลบังคับแล้ว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 ของศาลชั้นต้นหากศาลฟังว่าจำเลยต้องรับผิด ค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เกิน 30,000 บาท โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับจากวันเกิดเหตุละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 261,100.99(ที่ถูก 261,100) บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 มีนาคม2537) ให้ไม่เกิน 58,777.45 บาท ตามที่โจทก์ขอ
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นที่ว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิตามกฎหมายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า หนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยเป็นหนี้ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยและนายสยาม ประสิทธิศิริกุล เจ้าของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยทำไว้ต่อกันในชั้นพนักงานสอบสวนหนี้ดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามสัญญาประกันภัย เมื่อปรากฎว่าข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับนายสยามทำบันทึกข้อตกลงกันในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 ภายหลังวันที่กรมธรรม์ประกันภัยครบกำหนดหรือสิ้นผลแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิของนายสยามตามกรมธรรม์ประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายแก่จำเลยนั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับนายสยามตามเอกสารหมาย จ.2 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 จำเลยขับรถยนต์ชนรถยนต์ของนายสยามที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยความประมาทของจำเลยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งเป็นวันเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์มีต่อนายสยามยังมีผลบังคับอยู่โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสยามผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย แม้นายสยามจะได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ยอมให้จำเลยซ่อมรถยนต์ของนายสยามคันที่ถูกชนให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมเมื่อวันที่16 พฤศจิกายน 2534 ภายหลังจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยครบกำหนดแล้วก็ตาม สิทธิของโจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิของนายสยามผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่แก่จำเลยในการที่จะเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยยังคงมีอยู่ หาได้สิ้นสิทธิไปเพราะการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยกับนายสยามไม่ เพราะบันทึกข้อตกลงที่จำเลยยอมซ่อมรถยนต์ของนายสยามคันที่ถูกชนให้อยู่ในสภาพดังเดิมตามสำเนาบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.3 เป็นข้อตกลงที่ผูกพันเฉพาะจำเลยกับนายสยาม เมื่อจำเลยยังมิได้ปฎิบัติตามสัญญาหาได้มีผลทำให้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับนายสยามตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 สิ้นผลไปด้วยไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสยามผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ก็ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิรับช่วงสิทธิของนายสยามผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ในประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 ของศาลชั้นต้น เพราะมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นมูลเหตุเดียวกันกับมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 ของศาลชั้นต้นและคู่ความทั้งสองคดีก็เป็นคู่ความรายเดียวกัน ดังนั้น เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้วโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 ของศาลชั้นต้นเห็นว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านายสยามผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยผู้ทำละเมิด สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวทำให้มูลหนี้ละเมิดสิ้นไปโจทก์ในคดีนั้นย่อมไม่มีสิทธิที่จะนำมูลหนี้ละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยได้ ข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 เป็นการวินิจฉัยในประเด็นเรื่องการรับช่วงสิทธิในมูลหนี้ละเมิด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยในฐานะที่โจทก์รับช่วงสิทธิของนายสยามมาตามมูลหนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่นายสยามผู้เอาประกันภัยมีต่อจำเลยมิใช่ฟ้องในมูลหนี้ละเมิด จึงเป็นการฟ้องคนละประเด็นกัน ฉะนั้นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ย่อมไม่ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4504/2536 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีดังกล่าวไม่ซ้ำกันนั้นชอบแล้ว
ในประเด็นเรื่องอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่า หนี้โจทก์เรียกร้องเกิดจากเหตุรถยนต์ชนกันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์จึงเป็นอายุความแห่งมูลหนี้ละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 และอายุความการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการประกันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 ซึ่งมีอายุความเพียง 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบเหตุวินาศภัย และทราบตัวผู้ต้องรับผิด คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความฟ้องร้องนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของนายสยามผู้เอาประกันภัยอันมีต่อจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่นายสยามทำไว้กับจำเลย ตามสำเนาบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.3 มิได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลยตามสัญญาประกันภัยหรือตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะ จึงต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือมีอายุความ10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2537 ยังไม่เกิด 10 ปี นับแต่วันที่นายสยามผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในประเด็นเรื่องความรับผิดของจำเลยต่อโจทก์ที่จำเลยฎีกาว่าค่าซ่อมรถยนต์ของนายสยามให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมไม่เกินจำนวนเงิน100,000 บาท เชื่อได้ว่าโจทก์เสียเงินค่าซ่อมรถยนต์ของนายสยามคันเกิดเหตุที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเงิน 261,100.99(ที่ถูก 261,100) บาท ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจริง
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยคำนวณดอกเบี้ยที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์จากต้นเงิน 261,100.99(ที่ถูก 261,100) บาท นับจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันฟ้องได้เพียง 40,796 บาท เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นคำนวณดอกเบี้ยให้ถึงวันฟ้องไม่เกิน 58,777.45 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ชอบแล้ว ย่อมเป็นการไม่ถูกต้องเพราะถ้าคำนวณดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองแสดงว่าโจทก์สามารถคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยเท่าไรก็ได้เพียงแต่มิให้เกินจำนวน 58,777.45 บาท ซึ่งหมายถึงว่าโจทก์สามารถคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยเกิน 40,796 บาท ได้ด้วยนั้นเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 261,100.99 (ที่ถูก 261,100) นับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 มีนาคม 2537) ให้ไม่เกิน 58,777.45บาท ตามที่โจทก์ขอ หมายความว่า ศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องให้โจทก์เท่าจำนวนที่คำนวณได้จริง แต่ถ้าคำนวณแล้วได้ดอกเบี้ยเกิน 58,777.45 บาท ก็คงให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์เพียง58,777.45 บาท เท่าที่โจทก์ขอมา ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยคำนวณดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์2535 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องได้เพียง 40,796บาท โจทก์จึงไม่อาจจะบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเกิน จำนวน 40,796 บาท ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติไม่ได้ว่า จำเลยคำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์2535 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องมาถูกต้องตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้เป็นภาระของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้มีหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่จะคำนวณ”
พิพากษายืน

Share