คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5639/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า SEIKOในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2503 สำหรับสินค้าจำพวก 10 สินค้าเครื่องบอกเวลาและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเมื่อปี 2505 ได้มีการโฆษณาสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แพร่หลายในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2534 โดยในปี 2508 บริษัทม. ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านาฬิกาของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า SEIKO รวม 2 คำขอ โดยคำขอแรกใช้กับสินค้าจำพวก50 สินค้าเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ยาขัดทาเครื่องแต่งเรือน ส่วนคำขอที่สองใช้กับสินค้าจำพวก 37 ได้แก่ หนังของสัตว์ และต่อมาได้มีการโอนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKO และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเวลานานหลายปี ประกอบกับได้มีการโฆษณาสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นที่แพร่หลายทั่วไป และโจทก์ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทในสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้านั้นอยู่ก่อนแล้วก็ตาม ก็อาจทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งนับว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดีกว่าโจทก์
การที่จำเลยที่ 2 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะเห็นว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าซึ่งผู้อื่นได้จดทะเบียนไว้ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจของนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 16 และตามมาตรา 16 วรรคสองบัญญัติว่า ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียนผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 19ทวิ โดยยื่นต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังนั้น ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้แต่เพียงวิธีเดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทได้
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง หนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่มอบให้ ว.เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1มิได้ลงนาม การรับรองลายมือชื่อกรรมการฝ่ายบริหารอาวุโสของจำเลยที่ 1ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้ ร.เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้สืบพยานเพราะขาดนัดพิจารณาและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ว่า ร.เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1มีอำนาจเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนการค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนั้น ร.ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งแทนจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แต่แม้จะถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพราะคำให้การที่ ร.ยื่นไว้แทนจำเลยที่ 1 ไม่มีผลใช้บังคับได้ก็ตาม แต่ข้อวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คงมีผลเฉพาะปัญหาที่ ร.ฟ้องแย้งโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จึงต้องยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

Share