คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ม. ถึงแก่กรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ร. สามี ม. ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่มรดกของ ม. ร่วมกับ จำเลยซึ่งเป็นภริยาคนใหม่ของ ร.จนกระทั่งร. ได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 3 มกราคม 2517 แล้วโจทก์สำนวนแรกจึงมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทครอบครองมรดกของ ร. เพื่อขอแบ่งมรดกของ ม. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2518 พ้นกำหนด 1 ปี ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 แล้ว หากยังมีชีวิตอยู่ ร. ซึ่งครอบครองที่พิพาทย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์สำนวนแรกได้จำเลยเป็นคู่สมรสและเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิรับมรดกของร. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และ 1635 จึงชอบที่จะใช้สิทธิของ ร. ยกอายุความมรดก ขึ้นต่อสู้โจทก์สำนวนแรกได้ตามมาตรา 1755

ย่อยาว

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทของนางมวน นางมวนได้นายรื่นเป็นสามี มีสินเดิมและสินสมรส โจทก์ครอบครองร่วมกับนางมวนและนายรื่นตลอดมา นางมวลตาย นายรื่นได้จำเลยเป็นภรรยา โจทก์ก็ครอบครองร่วมกับนายรื่นและจำเลยต่อมา จนนายรื่นตายจึงขอแบ่งทรัพย์จากจำเลย

จำเลยให้การปฏิเสธบัญชีเครือญาติและว่าทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยกับนายรื่นซึ่งเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่เคยปกครองร่วมกับนางมวนและนายรื่น และเมื่อนางมวนถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ก็ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องเช่นกัน จำเลยกับนายรื่นครอบครองมาเกิน 10 ปีแล้ว หลังจากนายรื่นถึงแก่กรรม จำเลยก็ครอบครองแต่ผู้เดียว คดีขาดอายุความ

คดีสำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองขออาศัย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้ขออาศัยที่พิพาท ความจริงจำเลยที่ 2เป็นบุตรบุญธรรมนายรื่น และเมื่อจำเลยที่ 2 สมรสกับจำเลยที่ 1 นายรื่นให้จำเลยทั้งสองปลูกเรือนในที่พิพาท จำเลยครอบครองอยู่อย่างเจ้าของเกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณา ให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และเรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังว่าจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทแปลงที่ 4 เป็นสิทธิของโจทก์ที่ 1 แปลงที่ 1 ที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ให้ยกฟ้อง และแปลงที่ 2,3, 5 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1

โจทก์ที่ 1 และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับที่พิพาทแปลงที่ 4 ด้วย

โจทก์ที่ 1 และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ภายหลังนางมวนถึงแก่กรรม บุตรทั้งสามของโจทก์ที่ 1 จะคงทำประโยชน์อยู่ในที่ดินของนางมวนอันจะต้องตกแก่ทายาทของนางมวนอยู่ต่อไปก็ตาม บุตรทั้งสามของโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ใช่ทายาทผู้รับมรดกของนางมวนหรือได้รับมอบจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนางมวนให้ครอบครองมรดกของนางมวนอันจะตกได้แก่โจทก์ที่ 1 ไว้แทนโจทก์ที่ 1 เมื่อปรากฏว่านางมวนถึงแก่กรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และนายรื่นสามีนางมวนซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่มรดกของนางมวนร่วมกับจำเลยซึ่งเป็นภริยาคนใหม่ของนายรื่น จนกระทั่งนายรื่นได้ถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2517 (เอกสารหมาย จ.2) แล้วโจทก์ที่ 1 จึงมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทครอบครองมรดกของนายรื่นเพื่อขอแบ่งมรดกของนางมวนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2518 จึงพ้นกำหนด 1 ปี ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้ว หากยังมีชีวิตอยู่นายรื่นซึ่งครอบครองที่พิพาทแปลงที่ 4 ย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ที่ 1 ได้ จำเลยเป็นคู่สมรสและเป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนายรื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 และ 1635 จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของนายรื่นยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ที่ 1 ได้ตามมาตรา 1755

แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาทแปลงที่ 1

พิพากษายืน

Share