คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาทรัสต์รีซีท (ใบรับสินค้าเชื่อ) ให้ไว้กับโจทก์เพื่อรับเอกสารการส่งสินค้าไปออกสินค้าจากท่าเรือเพื่อนำไปจำหน่ายแก่ผู้ซื้อ ดังนี้ การทำสัญญาทรัสต์รีซีทนั้น เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือเงินค่าขายสินค้าไปเป็นของโจทก์ เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีท แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองสินค้าหรือเงินค่าขายสินค้าไว้ ก็เป็นการครอบครองหรือยึดไว้แทนโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้นเงินที่ขายได้ต้องหักชำระหนี้ค่าสินค้าและอุปกรณ์แก่โจทก์ เงินเหลือคืนให้จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเอาเงินที่ขายสินค้าได้ไปหักกับหนี้รายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตรับชำระหนี้ให้แก่บริษัทฮิสสันเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับหนี้ตามราคาสินค้าซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งเข้ามา โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ที่ 4 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ปรากฏว่าในการส่งสินค้าเข้ามาเที่ยวที่สอง เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพฯ แต่เอกสารการส่งสินค้ายังมาไม่ถึงและยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งบริษัทดังกล่าวออกให้ไว้และนำมาขายแก่ตัวแทนของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องการรับสินค้าออกไปจากท่าเรือก่อน จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์ค้ำประกันต่อบริษัทกาวาซากิ จำกัด เจ้าของเรือผู้รับขนสินค้าดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะไปออกสินค้าเก็บรักษาและยึดถือไว้ในนามของโจทก์และในฐานะสินค้านั้นเป็นของโจทก์มีสิทธิขายชำระหนี้ได้ โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ทำหนังสือค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท โจทก์ตกลง จำเลยที่ 1 จึงออกสินค้าจากท่าเรือได้ ต่อมาเมื่อครบกำหนดชำระเงินค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงิน โจทก์ได้ชำระหนี้ไปเป็นเงิน 336,768 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิดต่อโจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าสินค้าในเที่ยวที่สองดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว โดยโจทก์เป็นผู้ได้รับมอบสิทธิในการรับเงินค่าขายสินค้าจากลูกค้าผู้ซื้อในประเทศไทย และโจทก์ได้รับมาเรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับเงินจากกรมศุลกากรแทนจำเลยที่ 1 เกินกว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า หนี้ค่าสินค้าที่ส่งมาทางเรือเที่ยวที่สองเป็นเงิน 336,768 บาท และค่าธรรมเนียม 738 บาท 12 สตางค์กับค่าอากรแสตมป์ 16 บาท 50 สตางค์ รวมเป็นเงิน 337,522 บาท 67 สตางค์ระงับไปแล้วหรือไม่ ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทางการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ จี. มีว่า “เอกสารการส่งสินค้าทั้งหมดและสินค้าให้อยู่ในความครอบครองของท่าน (คือธนาคารโจทก์) ในฐานะเป็นประกันจนกว่าจะมีการใช้เงินตามตั๋วแลกเงินเมื่อถึงกำหนดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมธนาคารหรือค่าธรรมเนียมตามประเพณีและถ้าหากข้าพเจ้า/เรา (คือจำเลยที่ 1) ผิดนัดตามสัญญานี้อย่างใดแล้ว ท่านมีอำนาจที่จะขายเอกสารการส่งสินค้าและสินค้านั้นโดยการขายทอดตลาดหรือขายตามสัญญาเป็นการเฉพาะตัวโดยไม่ต้องแจ้งให้ข้าพเจ้า/เราทราบ และใช้เงินสุทธิที่ได้จากการขายนั้นไปชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้ว หรือจะถึงกำหนดชำระในภายหลัง ในกรณีสินค้าเสื่อมค่าลงด้วยประการใด ๆ ข้าพเจ้า/เราจะจัดการชดใช้การเสื่อมค่านั้น เมื่อท่านเรียกร้องตามวิธีการที่ท่านกำหนด” ส่วนสัญญาทรัสต์รีซีทตามเอกสารหมาย จ.3วรรคแรกและวรรคที่สองมีข้อความว่า

“ด้วยความไว้วางใจที่จะกล่าวต่อไปนี้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(คือโจทก์) ข้าพเจ้า/เรา (คือจำเลยที่ 1) ได้รับเอกสารการส่งสินค้าตามรายการข้างล่าง(คือสินค้าเที่ยวที่สองคิดเป็นเงิน 4,209,600 เยน คิดเป็นเงินไทย 336,768 บาท) ที่ส่งมายังธนาคารในฐานเป็นหลักประกันควบในการใช้เงินตามตั๋วแลกเงินและหนี้ที่เกี่ยวข้องเมื่อถึงกำหนดชำระ ข้าพเจ้า/เรา สัญญาว่าจะเป็นผู้นำสินค้าขึ้นฝั่งเก็บรักษาและยึดถือ ซึ่งสินค้าที่ได้รับความไว้วางใจ เพื่อธนาคารดังกล่าวและในฐานะเป็นสินค้าธนาคารมีสิทธิขายเพื่อชำระหนี้แก่ธนาคาร แต่ข้าพเจ้า/เรา ไม่มีอำนาจที่จะจำหน่ายจ่ายโอนอื่นใดซึ่งสินค้าดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน (หรือดอกผลแห่งสินค้านั้น)ไม่ว่าจะโดยวิธีการขายอย่างมีเงื่อนไข จำนำ หรือโดยประการอื่นใด

ในกรณีที่มีการขาย ข้าพเจ้า/เรา ขอให้สัญญาว่าจะนำเงินที่ได้จากการขายมอบแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ทันทีที่ได้รับเงินเพื่อชำระหนี้ที่ได้รับรองไว้ในรายการข้างล่าง และเพื่อชำระหนี้ที่เกี่ยวข้องซึ่งข้าพเจ้า/เรา มีอยู่กับธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด และไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ข้าพเจ้า/เรา จะยึดถือเก็บรักษาเงินที่ได้มาจากการขายสินค้านั้นแยกไว้ต่างหากจากเงินทุนทรัพย์ของข้าพเจ้า/เรา หรือทรัพย์อื่นใด ทั้งนี้การปฏิบัติทุกประการจะเป็นไปตามคำสั่งของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โดยตลอด

ข้าพเจ้า/เรา……….”

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อสินค้าเที่ยวที่ 2 ที่บริษัทฮิสสันเทรดดิ้งจำกัด ผู้ขายในประเทศญี่ปุ่นส่งมาให้จำเลยที่ 1 เพื่อจำหน่ายให้แก่กรมศุลกากรมาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถรับเอกสารการส่งสินค้าไปออกสินค้าจากท่าเรือได้ เพราะจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงินที่โจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 1 จึงต้องทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้ไว้กับโจทก์เพื่อรับเอกสารการส่งสินค้าไปออกสินค้าจากท่าเรือเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่กรมศุลกากร การทำสัญญาทรัสต์รีซีทนั้นเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือเงินค่าขายสินค้าไปเป็นของโจทก์ เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีท แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ครอบครองสินค้าหรือเงินค่าขายสินค้าไว้ก็เป็นการครอบครองหรือยึดถือไว้แทนโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวหากมีการขายสินค้าก็ต้องเอาเงินที่ขายได้มาหักชำระหนี้ค่าสินค้าหรือหนี้ที่เกี่ยวข้องเช่นค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ให้โจทก์จนครบถ้วน หากมีเงินเหลืออยู่ก็ต้องคืนให้จำเลยที่ 1 ไป แต่หากเงินที่ขายได้ไม่พอชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยก็ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้โจทก์อีกจนครบ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเอาเงินที่ขายสินค้าได้ไปหักกับหนี้รายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีท ปรากฏว่าค่าสินค้าทั้งสองเที่ยวรวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์มีเพียง 2,686,222 บาท 07 สตางค์แต่จำเลยที่ 1ได้ขายสินค้าทั้งสองเที่ยวให้กรมศุลกากรไปเป็นเงิน 2,960,100 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นเงินถึง 273,877 บาท 26 สตางค์ จำเลยที่ 1ได้มอบให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าขายสินค้าทั้งสองเที่ยวจำนวน 2,960,100 บาทจากกรมศุลกากรแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากกรมศุลกากรแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีทสำหรับค่าสินค้าเที่ยวที่สองให้โจทก์เสร็จสิ้นไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเอาหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,385,006 บาท 64 สตางค์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีทมาหักกับค่าสินค้าจำนวน 2,960,100 บาท ที่กรมศุลกากรจ่ายให้โจทก์รับแทนจำเลยที่ 1 เพราะเป็นหนี้ต่างรายกันและเป็นการขัดกับคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับค่าสินค้าเที่ยวที่สอง พร้อมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเอาหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,385,006 บาท 64 สตางค์มาหักกับเงินค่าสินค้าที่ขายจำนวน 2,960,100 บาทได้ โดยยกเอาข้อสัญญาตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ อี. ที่ว่า “ข้าพเจ้า/เรา (คือจำเลยที่ 1)ยินยอมให้ท่าน (คือโจทก์) หักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของข้าพเจ้า/เราที่มีอยู่กับธนาคารท่านชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และชำระหนี้ต่าง ๆ อันเกิดขึ้นตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนี้ เมื่อธนาคารมีความจำเป็น” ขึ้นมาอ้างนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะหนี้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์รับเงินค่าสินค้าทั้งสองเที่ยวจากกรมศุลกากรและมิได้เป็นหนี้อันเกิดขึ้นตามเลตเตอร์ออฟเครดิตการที่จะยกเอาข้อสัญญาดังกล่าวขึ้นมาใช้ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีการทำสัญญาทรัสต์รีซีทหรือมีการทำสัญญาทรัสต์รีซีทแล้วแต่ไม่มีการขายสินค้า หรือมีการขายสินค้าแล้วแต่ได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบ และกรณีหลังจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1ได้เฉพาะจำนวนเงินค่าสินค้าตามตั๋วแลกเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ยังขาดอยู่เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและตามสัญญาทรัสต์รีซีทจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นต่อไป

พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share