คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2988/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยหลอกลวงต่อบุคคลต่างราย เกิดขึ้นคนละสถานที่และต่างวันเวลากัน การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการหลอกลวงบุคคลกลุ่มเดียวกัน ด้วยเจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียวกัน และมีการจ่ายเงินให้แก่จำเลยเหมือนกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ระหว่างเดือนเมษายน 2539 เวลากลางวันถึงปลายเดือนสิงหาคม 2539 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยหลอกลวงนางดารุณี โคตรคำ คนหางาน ว่าสามารถหางานให้นางดารุณีไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยนางดารุณีต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายจำนวน 70,000 บาท แก่จำเลยอันเป็นความเท็จซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถหางานในประเทศเกาหลีใต้ได้และไม่มีเจตนาหางานให้นางดารุณีไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ด้วยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้นางดารุณีผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและมอบเงินจำนวน 70,000 บาท ให้แก่จำเลยไป ระหว่างต้นเดือนกรกฎาคม 2539 เวลากลางวัน ถึงปลายเดือนสิงหาคม 2539เวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยหลอกลวงนายวรรณะ อาจประจักษ์คนหางาน ว่าสามารถหางานให้นายวรรณะไปทำงานที่โรงงานทำขวดแก้วในประเทศเกาหลีใต้ โดยนายวรรณะต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวน 70,000 บาท แก่จำเลย อันเป็นความเท็จซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถหางานที่โรงงานทำขวดแก้วที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ และไม่มีเจตนาหางานให้นายวรรณะไปทำงานที่โรงงานทำขวดแก้วในประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้นายวรรณะผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อและมอบเงินจำนวน 70,000 บาทให้แก่จำเลยไป ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 และให้จำเลยคืนเงินแก่นางดารุณีและนายวรรณะคนละ70,000 บาท กับให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 6207/2540 และ 1624/2541 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปีรวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่นางดารุณี โคตรคำ และนายวรรณะ อาจประจักษ์ คนละ 70,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 6207/2540 และ 1624/2541ของศาลชั้นต้นนั้นไม่ปรากฏว่าคดีทั้งสองดังกล่าวได้มีคำพิพากษาแล้วจึงไม่นับโทษต่อให้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อกลางเดือนเมษายน 2539 จำเลยไปหานางดารุณีที่บ้านชักชวนให้นางดารุณี และนายสุรินทร์ สามีนางดารุณีไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ได้เงินเดือนขั้นต่ำ 18,000 บาท แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 70,000 บาท นางดารุณีและสามีตกลงไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ จึงนำเงินจำนวน 120,000 บาท ไปมอบแก่จำเลยที่บริษัทเอเด้นการ์เด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของจำเลยถนนรัชดาภิเษกแขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม2539 ต่อมานายสุรินทร์นำเงินอีก 20,000 บาท มาชำระแก่จำเลยที่บริษัทของจำเลยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539 และจำเลยไปหานายประเทืองที่บ้าน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 บอกว่าสามารถจัดหางานให้นายวรรณะบุตรชายของนายประเทืองไปทำงานกระจกแก้วที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้ค่าจ้างเดือนละ 18,000 บาท ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 70,000 บาท นายประเทืองตกลงให้นายวรรณะไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 นายประเทืองมอบเงินสดจำนวน 70,000 บาท ให้นายวรรณะไปโอนเงินไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขามัญจาคีรี เห็นว่า การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการหลอกลวงบุคคลกลุ่มเดียวกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียวกัน มีการจ่ายเงินให้แก่จำเลยเหมือนกันแต่จำเลยหลอกลวงต่อบุคคลต่างราย เกิดขึ้นคนละสถานที่และต่างวันเวลากัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

พิพากษายืน

Share