คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้ลักลอบนำสลากกินแบ่งของสหพันธรัฐมลายาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยวิธีซ่อนเร้น ด้วยการละเว้นไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง นั้น ชัดเจนพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรายละเอียดว่าการผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจะต้องทำอย่างไร ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2467 มาตรา 27 เป็นบทบังคับให้ผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักร แม้จะเป็นของที่ไม่ต้องเสียอากรก็ต้องผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก่อน
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2480 มาตรา 11 นั้น เป็นบทลงโทษผู้ทำการขนส่งฝ่าฝืนมาตรา 7 และ 8 จะนำมาปรับแก่กรณีผู้ลักลอบนำของเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ได้
เมื่อจำเลยใช้รถยนต์ของกลางลักลอบนำของซ่อนเร้นเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดแล้ว แม้ของจะมากน้อยเท่าใด ก็ได้ชื่อว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางกระทำผิดด้วยแล้ว
พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2490 มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ริมทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นของบุคคลใดและเจ้าของจะได้รู้เห็นในการกระทำผิดด้วยหรือไม่นั้น ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจนำสลากกินแบ่งของสหพันธรัฐมลายา ๒,๖๐๐ ฉบับ ราคา ๑๗,๖๘๐ บาท และสิ่งของซึ่งต้องเสียภาษีอากร คือ ตะไบลับมีด ๑ อัน ราคา ๑๕ บาท มีดปังตอ ๔ เล่ม ราคา ๖๐ บาท แผ่นป้ายโลหะ ๑๐๐ อัน ราคา ๒๐๐ บาท ขอเหล็ก ๒๐ อัน ราคา ๒๐ บาท รวม ๔ สิ่ง ราคา ๒๙๕ บาท ซึ่งต้องเสียอากร ๗๑.๗๕ บาท กับสิ่งของต้องห้ามมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ คือ ร่มกระดาษ ๒ คัน ราคา ๑๐ บาท อากร ๖ บาท จากสหพันธรัฐมลายาซึ่งเป็นดินแดนต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องและหลีกเลี่ยงไม่เสียอากร โดยมิได้รับอนุญาตสำหรับของต้องห้ามมิให้นำเข้ามาในประเทศ โดยซ่อนเร้นบรรทุกมาในรถยนต์คันหมายเลข เอ.เอ.๓๓๗๕ โดยเจตนาฉ้อค่าภาษีรัฐบาล ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ ริบของกลางรวมทั้งรถยนต์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๓๒, ๓๔ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๖, ๑๗ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๐ ให้ปรับ ๔ เท่าของราคาสลากกินแบ่งเป็นเงิน ๗๐,๗๒๐ บาท ปรับ ๔ เท่าของราคาตะไบ มีดปังตอ แผ่นป้ายโลหะ และขอเหล็กรวมค่าอากรเป็นเงิน ๑,๔๖๗ บาท ส่วนข้อหาลักลอบนำร่มกระดาษ ๒ คันเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น ผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ ด้วย แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ มาตรา ๓ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๑ เดือน ปรับ ๕ เท่าราคาสินค้า ๕๐ บาท ยกโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๕ คงปรับสถานเดียว รวมปรับทั้งสิ้น ๗๒,๒๓๗ บาท ลดรับกึ่ง มาตรา ๗๘ ปรับ ๓๖,๑๑๘.๕๐ บาท ไม่ชำระจัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐ ถ้ากักขังให้กักขัง ๒ ปี ริบของกลางรวมทั้งรถยนต์ จ่ายรางวัลผู้จับ
นายฟุ้ง เส็งควน ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้คืนรถยนต์ของกลาง ศาลชั้นต้นส่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องข้อหาจำเลยนำสลากกินแบ่งเข้ามาไม่สมบูรณ์ หากจะผิดก็ผิดพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๔๘๐ มาตรา ๑๑ ขอให้พิพากษาแก้ และคืนรถยนต์ของกลาง
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า รถยนต์เป็นของผู้ร้อง จำเลยเช่ามา มีของติดตัวมาเล็กน้อยเท่านั้นอันไม่ใช่สินค้า ผู้ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิด ขอให้ศาลไต่สวน และคืนรถยนต์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ฟ้องโจทก์บรรยายรายละเอียดว่า จำเลยลักลอบนำสลากกินแบ่งของสหพันธรัฐมลายาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยวิธีซ่อนเร้น ด้วยการละเว้นไม่ผ่านด่านศุลกากรให้ถูกต้องนั้น ชัดเจนพอที่จำเลยจะเข้าในได้ดีแล้ว ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพ มิได้หลงข้อต่อสู้ ไม่จำต้องกล่าวรายละเอียดว่าการผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจะต้องทำอย่างไรด้วย เพราะเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย + จึงสมบูรณ์ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าสลากกินแบ่งเป็นของส่วนตัว ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ผิดพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ควรจะผิดพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๔๘๐ มาตรา ๑๑ นั้น ให้พิจารณาพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ แล้วเห็นว่า เป็นบทบังคับให้ผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักร แม้จะเป็นของที่ไม่ต้องเสียอากรก็ต้องผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก่อน เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องการนำสลากกินแบ่งเข้ามาฟังได้ว่าจำเลยลักลอบซ่อนเร้นเข้ามาในราชอาณาจักโดยมิได้ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง ย่อมเป็นผิดตามมาตรา ๒๗ ดังกล่าว และเห็นว่าพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๔๘๐ มาตรา ๑๑ เป็นบทลงโทษผู้ทำการขนส่งที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา ๗, ๘ จำเลยไม่ใช่ผู้ขนส่ง หากเป็นผู้ลักลอบนำของเข้ามา จึงนำบทบัญญัติดังกล่างมาปรับไม่ได้ ส่วนรถยนต์ของกลาง กฎหมายมิได้บัญญัติแจ้งไว้ว่ายานพาหนะที่ใช้บรรทุกของเข้ามาจำนวนมากน้องเท่าใดจึงจะถือว่าเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด เมื่อปรากฏว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางลักลอบนำของซ่อนเร้นเข้ามาอันเป็นความผิดแล้วก็ได้ชื่อว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางกระทำผิดด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของผู้ร้องนั้น เห็นว่า ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจัก พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๒๐ บัญญัติว่า ให้วินิจฉัยกรณีไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๙๒ มาตรา ๒๙ บัญญัติว่า บุคคลจะไม่ต้องรับโทษในทางอาญาเว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลากระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิด และศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยวางแนวไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๑๑/๒๕๐๔ ว่า พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ ที่บัญญัติให้ริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นของผู้ใดและเจ้าของจะได้รู้เห็นในการกระทำผิดด้วยหรือไม่นั้น ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ และแม้จะเป็นการริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๓๒ ก็ตาม หากปรากฏภายหลังว่าเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำผิด ศาลก็ต้องสั่งคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖ พิพากษาคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ผู้ร้องขอคืนรถยนต์ ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งตามกระบวนความ นอกนี้ยืน เว้นแต่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๓๔ ถูกยกเลิกใช้บังคับไม่ได้

Share