คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4123/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ค้ำประกันสัญญาว่าจ้างจะได้รับการเวนคืนหนังสือค้ำประกันสัญญาว่าจ้างซึ่งเป็นเอกสารแห่งหนี้ เข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสาม ว่า หนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อผู้รับจ้างยังมิได้ชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างแก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวระงับไปด้วยเหตุประการอื่น และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ถึง 701 โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดตามหนังสือค้ำประกันสัญญาว่าจ้างได้ก็ตาม แต่หากธนาคารคืนหลักทรัพย์ที่ผู้รับจ้างนำมาวางเป็นหลักประกัน เนื่องจากผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันมาคืนธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันโดยเฉพาะคดีนี้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของโจทก์คือจำเลยทั้งสามคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้รับจ้างไปเองยากที่โจทก์จะให้ธนาคารผู้ค้ำประกันรับผิด ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วจำเลยทั้งสามจึงต้องมีส่วนรับผิดตามสัญญาว่าจ้างร่วมกับผู้รับจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของโจทก์โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลประสิทธิ์สุพรรณรวม 3 สัญญา คือสัญญาที่ กจ.23/2521สัญญาที่ กจ.8/2525 และสัญญาที่ กจ.2/2526 โดยห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลประสิทธิ์สุพรรณผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันสัญญาของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จำนวน 3 ฉบับมาให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงาน ในปี 2528ขณะที่ผู้รับจ้างยังมีภาระผูกพันตามสัญญาอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2ติดต่อขอรับหนังสือค้ำประกันสัญญาจากจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่เก็บรักษา โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่ และจำเลยที่ 3ให้หนังสือค้ำประกันสัญญาไปโดยฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือค้ำประกันสัญญาไปคืนให้ผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันสัญญาไปคืนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด เพื่อขอถอนหลักประกันเรียบร้อยแล้วปรากฏว่าผู้รับจ้างทำงานตามสัญญาจ้างทั้ง 3 ฉบับไม่เรียบร้อยต้องแก้ไขซ่อมแซม คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 606,003 บาทโจทก์ติดต่อให้ผู้รับจ้างแก้ไขแล้วแต่เพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกร้องให้ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ชำระค่าเสียหายตามสัญญาค้ำประกันได้เนื่องจากไม่มีหนังสือค้ำประกันสัญญา โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2530 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี ในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี เป็นจำนวน 4,545 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ 610,548 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 606,003 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 606,003 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2530 แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง(วันที่ 23 สิงหาคม 2531) ให้ไม่เกิน 4,545 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลประสิทธิ์สุพรรณทำการก่อสร้างตามสัญญาที่ กจ.23/2521, ที่ กจ.8/2525 และที่ กจ.2/2526เอกสารหมาย จ.19 ถึง จ.21 ในการทำสัญญาดังกล่าวห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลประสิทธิ์สุพรรณผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันสัญญาของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จำนวน 3 ฉบับมาวางไว้ต่อโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์เป็นผู้เก็บรักษา ต่อมาเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพบว่า หนังสือค้ำประกันสัญญาทั้ง 3 ฉบับ หายไป ปรากฏว่างานที่ผู้รับจ้างก่อสร้างชำรุดบกพร่องต้องซ่อมแซม แต่ผู้รับจ้างไม่ยอมซ่อมตามสัญญาโจทก์ไม่มีหนังสือค้ำประกันสัญญาสำหรับใช้เรียกร้องค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใด พิเคราะห์แล้วโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานละเมิดโดยอาศัยข้ออ้างว่างานที่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลประสิทธิ์สุพรรณรับจ้างเหมาทำมีข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข แต่ผู้รับจ้างไม่แก้ไขให้ซึ่งธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ผู้ค้ำประกัน จะต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวแต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีหนังสือค้ำประกันสัญญาของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้แทนเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นโจทก์ชอบที่จะฟ้องร้องคู่สัญญาคือผู้รับจ้างและธนาคารผู้ค้ำประกัน สัญญาจ้างเอกสารหมายจ.19 ข้อ 11 และสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.20, จ.21 ข้อ 3ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า “เมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อยและภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้าง ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง จะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดีก็ตาม ผู้รับจ้างต้องรับทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานจากผู้ว่าจ้างอีกถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่รีบจัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำการแทนได้โดยผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าจ้างและค่าสิ่งของตามจำนวนที่ผู้ว่าจ้างต้องเสียไปโดยสิ้นเชิง” แสดงว่าผู้รับจ้างมีภาระผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบในงานที่ทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันรับมอบงาน งานตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.19 ครบกำหนดสัญญาวันที่ 30 มิถุนายน 2521 แต่งานไม่เสร็จตามสัญญาโดยเกินไป 270 วัน งานจึงเสร็จเมื่อวันที่27 มีนาคม 2522 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 งานตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 งานเสร็จภายในกำหนดสัญญาวันที่ 31 กรกฎาคม 2525 และวันที่ 27 พฤศจิกายน2526 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3ตามลำดับ ซึ่งผู้รับจ้างมีกำหนดระยะเวลาที่จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2523 วันที่ 31 กรกฎาคม 2526 และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 ตามลำดับ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าความชำรุดบกพร่องของงานทั้ง 3สัญญาเกิดขึ้นเมื่อใด คงมีเพียงนายพรชัย มหัทธนะสินนางช่างหัวหน้าโครงการคลองวังไทร มีหนังสือลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2527 แจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขและซ่อมแซมประตูระบายน้ำคอนกรีตที่ชำรุดตามสัญญาจ้างที่ กจ.2/2526เอกสารหมาย จ.21 ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.84 จึงต้องถือว่าความชำรุดบกพร่องของงานตามสัญญาที่ กจ.2/2526 เกิดขึ้นในวันที่มีการแจ้ง ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2527 ผู้รับจ้างมีหนังสือขอหนังสือค้ำประกันสัญญาจ้างที่ กจ.2/2526 คืนตามเอกสารหมาย จ.85โจทก์มีการสั่งการให้ตรวจสอบงานที่ให้ซ่อมแซมก่อนเพื่อจะถอนหนังสือค้ำประกัน ครั้นวันที่ 19 ธันวาคม 2527นายพรชัยมีหนังสือแจ้งผู้รับผิดชอบไม่ให้คืนหนังสือค้ำประกันเนื่องจากผู้รับจ้างยังไม่ซ่อมแซมงานที่ชำรุดตามเอกสารหมาย จ.86แต่ไม่ได้ความว่าโจทก์ดำเนินการต่องานที่ชำรุดนั้นต่อไปอย่างไรหลังจากนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 โจทก์ตรวจสอบความชำรุดที่ผู้รับจ้างยังไม่ได้ทำการแก้ไข คิดค่าใช้จ่ายตามสัญญาจ้างที่ กจ.23/2521 เป็นเงิน 174,000 บาท สัญญาจ้างที่ กจ.8/2525เป็นเงิน 281,355 บาท และสัญญาจ้างที่ กจ.2/2526เป็นเงิน 150,648 บาท ตามเอกสารหมาย จ.47 และ จ.48 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 606,003 บาท แล้วให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ตามเอกสารหมาย จ.51 อย่างไรก็ตาม งานตามสัญญาจ้างที่กจ.23/2521 เอกสารหมาย จ.19 และสัญญาจ้างที่ กจ.8/2525เอกสารหมาย จ.20 โจทก์รับมอบงานวันที่ 27 มีนาคม 2522 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2525 ความชำรุดที่โจทก์อ้างปรากฏเมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 เกินเวลา 1 ปี ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมายจ.19 ข้อ 11 และสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.20 ข้อ 3 ดังนั้นผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดแม้จำเลยทั้งสามมีส่วนในการคืนหนังสือค้ำประกันสัญญาดังกล่าวไปก็ไม่ต้องรับผิดด้วยส่วนงานตามสัญญาว่าจ้างที่ กจ.2/2526 เอกสารหมายจ.21 โจทก์พบความชำรุดภายใน 1 ปี นับแต่วันรับมอบงานและได้แจ้งให้ผู้รับจ้างซ่อมแซมแล้ว แต่ผู้รับจ้างเพิกเฉยหากหนังสือค้ำประกันสัญญาของธนาคารอยู่กับโจทก์ โจทก์ย่อมเรียกให้ธนาคารชดใช้แทนผู้รับจ้างได้ เมื่อจำเลยทั้งสามมีส่วนร่วมในการคืนหนังสือค้ำประกันสัญญานั้นไป แม้โดยหลักกฎหมายโจทก์มีสิทธิฟ้องธนาคารได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้รับจ้างได้รับหนังสือค้ำประกันสัญญาพิพาทคืนไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เท่ากับโจทก์มิได้มีเจตนาจะปลดหนี้ตามหนังสือค้ำประกันสัญญาพิพาทแม้ผู้ค้ำประกันสัญญาจะได้รับการเวนคืนหนังสือค้ำประกันสัญญาพิพาทซึ่งเป็นเอกสารแห่งหนี้เข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสาม ว่า หนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้รับจ้างยังมิได้ชำระหนี้ที่ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาแก่โจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาก็ไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวระงับไปด้วยเหตุประการอื่น และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ถึง 701โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันสัญญารับผิดตามหนังสือค้ำประกันสัญญาพิพาทได้ก็ตามแต่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ติดต่อให้ธนาคารผู้ค้ำประกันปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันแล้วแต่ธนาคารชี้แจงว่าไม่อาจปฏิบัติได้เนื่องจากผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันมาคืนธนาคารได้คืนหลักทรัพย์ที่ผู้รับจ้างนำมาวางเพื่อเป็นหลักประกันในการที่ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันสัญญาให้ไปแล้วโดยสุจริต ธนาคารไม่สามารถที่จะไล่เบี้ยบังคับชำระหนี้จากหลักทรัพย์ที่ผู้รับจ้างนำมาวางได้และประเด็นเรื่องที่โจทก์สามารถฟ้องร้องธนาคารได้นั้นไม่ได้ว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้โจทก์มีสิทธิฟ้องธนาคารได้ แต่หากธนาคารคืนหลักทรัพย์ที่ผู้รับจ้างนำมาวางเป็นหลักประกันเนื่องจากผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันมาคืน ธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันโดยเฉพาะคดีนี้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของโจทก์คือจำเลยทั้งสามคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้รับจ้างไปเอง ยากที่โจทก์จะให้ธนาคารผู้ค้ำประกันรับผิดถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยทั้งสามจึงต้องมีส่วนรับผิดตามสัญญาว่าจ้างที่ กจ.2/2526 เอกสารหมาย จ.21ร่วมกับผู้รับจ้าง ศาลฎีกาเห็นควรให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดจำนวน 50,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share