แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้เช่าโรงเรือนพิพาท สัญญาเช่า กำหนดให้โจทก์เป็นผู้ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนผู้ให้เช่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าภาษีแก่จำเลยที่ 1 เกินไปตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอคืนเงินภาษีส่วนที่เกินได้ แม้สัญญาเช่าจะกำหนดอัตราค่าเช่าไว้ แต่ตามสัญญาเช่าดังกล่าวโจทก์ต้องให้ผลประโยชน์แก่ผู้ให้เช่าเพื่อตอบแทนการให้เช่าอีกหลายประการ มีเหตุทำให้เห็นว่า อัตราค่าเช่าตามสัญญาเช่ามิใช่ค่าเช่าอันครบถ้วนแท้จริง ถือไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเงินอันสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่ากิจการโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมรวมทั้งโรงเรือนและที่ดินพิพาท สัญญาเช่ากำหนดให้โจทก์เป็นผู้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนผู้ให้เช่าเป็นเงินปีละ 74,337.50 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2534 สำหรับโรงเรือนเลขที่ 185 ดังกล่าวเป็นเงิน 3,278,617.20 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่แต่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2สำหรับปีภาษี 2534 โดยให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเงิน 74,337.50 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 3,204,279.70 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินรายพิพาทของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 สำหรับปีภาษี 2534โดยโจทก์คงเสียภาษีเพียงจำนวน 74,337.50 บาท ให้จำเลยที่ 1คืนค่าภาษีในส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกิน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่า3,204,279.70 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่ชำระภายในกำหนดให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่ต้องคืน นับแต่วันที่ครบกำหนด3 เดือน จากวันที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดิน 24 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 185 และ 308/71-165ซอยบางยี่ขัน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินดังกล่าวจากกระทรวงการคลังมีกำหนด 15 ปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 ค่าเช่าปีละ 594,700 บาท และข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับพ.ศ. 2523-2537 ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับโจทก์ด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนเลขที่ 185 และ 308/71-165 และที่ดินดังกล่าวประจำปีภาษี2534 เป็นเงิน 30,157,418.40 บาท ลดค่ารายปีตามมาตรา 13 ลงให้บางส่วนแล้วเหลือค่ารายปี 26,228,937.60 บาท ค่าภาษีที่จะต้องเสียจำนวน 3,278,617.20 บาท จึงให้พนักงานเก็บภาษีแจ้งการประเมินไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำเงินไปชำระ โจทก์ชำระค่าภาษีดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วได้ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วมีคำชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้ววินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันฉบับ พ.ศ. 2523-2537 ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับโจทก์ ข้อ 44ว่า โจทก์ผู้เช่าตกลงจะชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในทรัพย์ที่เช่าแทนผู้ให้เช่า ดังนั้น การที่โจทก์ชำระค่าภาษีแก่จำเลยที่ 1แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระค่าภาษีดังกล่าวแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าภาษีเกินไปตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิยึดเงินส่วนที่เกินนั้นไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับคืนเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ได้ โจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 จึงจะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ และแม้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมผู้รับประเมินจะมิได้ฟ้องคดีเกี่ยวกับการประเมินเป็นเหตุให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องผูกพันตามผลการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าการประเมินเป็นอันเด็ดขาดก็ตาม ก็เป็นเรื่องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเฉพาะตัวหามีผลกระทบสิทธิฟ้องคดีของโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่ 2 ที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า การประเมินและคำชี้ขาดเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนและที่ดินรายพิพาทนี้ชอบแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ โจทก์นำสืบว่า ค่าเช่าโรงเรือนและที่ดินรายพิพาทเป็นเงินเพียง 594,700 บาท ค่ารายปีจึงต้องถือตามจำนวนดังกล่าว ค่าภาษีที่จะต้องเสียจึงคิดเป็นเงินเพียง 74,337.20บาท การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินเรียกเก็บถึง3,278,617.20 บาท จึงสูงเกินไปกว่าที่จะต้องชำระตามกฎหมายแต่ตามข้อสัญญาปรากฏว่า นอกจากโจทก์จะต้องชำระค่าเช่าให้แก่กระทรวงการคลังตามสัญญาเช่าที่ดินเป็นเงินปีละ 594,700 บาท แล้วโจทก์ยังต้องชำระค่าเช่าให้แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับ พ.ศ. 2523-2537 สำหรับสองปีแรกในอัตราปีละ 55 ล้านบาท ปีต่อ ๆ ไปปีละ 60 ล้านบาท กับต้องสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่31 ธันวาคม 2524 และขยายการผลิตโดยการสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตขึ้นอีกเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 200ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 และให้บรรดาทรัพย์สินสิ่งที่ได้จัดทำสร้าง ประกอบและติดตั้งตามสัญญาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่านอกจากค่าเช่าแล้ว โจทก์ยังต้องให้ประโยชน์แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อตอบแทนการให้เช่าอีกเป็นจำนวนมิใช่น้อยแสดงว่าค่าเช่าโรงเรือนและที่ดินรายพิพาทที่แท้จริงย่อมจะต้องสูงกว่าจำนวน 594,700 บาท มากฉะนั้นจะถือเพียงค่าเช่าตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าปีละ 594,700 บาทดังกล่าวเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีหาได้ไม่ เพราะมีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่าดังกล่าวมิใช่ค่าเช่าอันครบถ้วนแท้จริง ถือไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475ส่วนปัญหาว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินขึ้นใหม่จำนวน 26,228,977.60 บาท เป็นค่ารายปีที่สูงกว่าค่าเช่าที่อาจให้เช่าได้ในปีภาษี 2534 หรือไม่นั้น ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปีโรงเรือนและที่ดินพิพาทโดยเทียบเคียงอาคารตึกกับอาคารตึก อาคารไม้กับอาคารไม้ตลอดจนที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกันซึ่งมีสภาพพอ ๆ กันโดยถืออัตราอาคารตึกตารางเมตรละ 30 บาท ต่อเดือน อาคารไม้ตารางเมตรละ 20 บาท ต่อเดือน ถังเก็บน้ำมัน น้ำตาล ฯลฯลูกบาศก์เมตรละ 20 บาท ต่อเดือน โรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรตารางเมตรละ 90 บาท ต่อเดือน โดยลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 ตามพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 13 ก่อนคิดคำนวณภาษี ส่วนที่ดินต่อเนื่องคิดอัตราตารางเมตรละ 5 บาทต่อเดือนฝ่ายโจทก์มิได้นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่า โรงเรือนและที่ดินพิพาทสมควรจะให้เช่าได้ในปีภาษี 2534 สูงกว่าจำนวน 594,700บาท เป็นจำนวนเท่าใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินไว้จำนวน 26,228,937.60 บาทถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ย่อมชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด