แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ให้บริษัท บ. เป็นตัวแทนดำเนินการขนส่งและบริษัท บ. ได้ว่าจ้างบริษัทเรือ อ. ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปจัดการดูแลให้มีการควบคุมอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ตลอดระยะทางที่ส่งสินค้ามานั้นก็เพราะจำเลยที่ 1 ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของผู้ขนส่งที่จะต้องดูแลมิให้สินค้าที่ส่งนั้นต้องเสียหาย สูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง และยังดำเนินการทางพิธีศุลกากร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการทำพิธีการทางศุลกากรหรือตัวแทนการออกของ หรือทำในฐานะที่จะต้องส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งแต่อย่างใด นอกจากจำเลยที่ 1 ได้รับค่าบริการการดำเนินการทางพิธีศุลกากรจากโจทก์แล้ว ยังได้รับเงินค่าบริการในการขนส่งอีกจำนวนหนึ่งจากโจทก์ การดำเนินงานของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในฐานะผู้ขนส่งเพื่อบำเหน็จในทางค้าปกติโดยมีข้อตกลงกับโจทก์ในการขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งแม้จะต้องรับผิดในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขนตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่า การที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิเป็นผลอันเกิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำหรือละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งโดยมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าพิพาทแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 โดยจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น
ตามใบตราส่งระบุจำนวนหีบห่อที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ว่ามีจำนวน 521 หีบห่อ (Pieces of banded christmas trees) กรณีจึงต้องถือว่าได้มีการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้ในใบตราส่งรวมเป็นจำนวน 521 หน่วยการขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58, 59
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหาย 1,632,921.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,520,449.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโจทก์ในการดำเนินพิธีการศุลกากรในการนำสินค้าเข้าประเทศไทย มิได้รับจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าต้นคริสต์มาสหรือจัดหาผู้ขนส่งสินค้า และไม่ได้มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่ง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 931,757.87 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 851,469.52 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์สั่งซื้อต้นคริสต์มาสจำนวน 521 ต้น จากประเทศสหรัฐอเมริกา ต้นคริสต์มาสดังกล่าวได้ถูกส่งมายังท่าเรือกรุงเทพโดยบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ ปรากฏว่าต้นคริสต์มาสได้รับความเสียหาย มีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้หรือไม่ โจทก์ได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ทั้งภายในและต่างประเทศ และจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับบริษัทเบสิค ซัพพลาย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าจากต้นทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกาให้แก่จำเลยที่ 1 การที่บริษัทเบสิค ซัพพลาย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ดำเนินการขนส่งโดยการว่าจ้างบริษัทเรือเอ็น วาย เค สตาร์ไลท์ โดยใช้ระบบการขนส่งซีวาย/ซีวาย ก็ดี การที่บริษัทเบสิค ซัพพลาย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด จ่ายเงินค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และได้ทำประกันภัยสินค้าของโจทก์ก็ดี เป็นการที่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดำเนินการเพื่อให้การขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ได้ส่งไปให้ถึงผู้ว่าจ้างคือโจทก์ทั้งสิ้น และการที่จำเลยที่ 1 ต้องเข้าไปจัดการดูแลให้มีการควบคุมอุณภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ตลอดระยะทางที่ส่งสินค้ามานั้นก็เพราะจำเลยที่ 1 ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของผู้ขนส่งที่จะต้องดูแลมิให้สินค้าที่ส่งนั้นต้องเสียหาย สูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในใบตราส่งก็ได้จัดการดำเนินการออกสินค้า และดำเนินการทางพิธีศุลกากร ตลอดจนหายานพาหนะนำสินค้าส่งให้โจทก์ยังที่ทำการของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการทำพิธีการทางศุลกากรหรือตัวแทนการออกของ หรือทำในฐานะที่จะต้องส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งแต่อย่างใดไม่ เมื่อปรากฏพยานหลักฐานจากจำเลยที่ 1 เองว่า นอกจากจำเลยที่ 1 ได้รับค่าบริการการดำเนินการทางพิธีศุลกากรจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้รับเงินค่าบริการในการขนส่งอีกจำนวนหนึ่งจากโจทก์ การดำเนินงานของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินงานในฐานะผู้ขนส่งเพื่อบำเหน็จในทางค้าปกติของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงกับโจทก์ในการขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประเด็นต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดแค่ไหนเพียงไรนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง โดยในช่วงต้นทางนั้นจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับบริษัทเบสิค ซัพพลาย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ในการเป็นผู้ดำเนินการขนส่งและติดต่อเรือที่ทำการขนส่ง เมื่อปรากฏว่ากราฟแสดงการควบคุมอุณหภูมิตู้คอนเทนเนอร์ในระหว่างเดินทางและจากคำเบิกความของนายสุวัฒน์ผู้ตรวจสอบความเสียหายของบริษัทอินช์เคป เซอร์เวย์ แอนด์ แอดจัสติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด พยานโจทก์ซึ่งเบิกความว่า อุณหภูมิขาดหายไป 2 วัน คือวันที่ 20 และ 21 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งพยานเข้าใจว่าเป็นช่วงของการขนถ่ายสินค้าที่ฮ่องกง ซึ่งมีผลกระทบต่อสินค้าพิพาทรายนี้ อันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งสินค้าโดยไม่ได้มีการควบคุมอุณหภูมิในตู้คอนเทนเนอร์ไว้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งแม้จะต้องรับผิดในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขนตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานในคดีนี้เลยว่า การที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิในช่วงเวลา 2 วันนั้น เป็นผลอันเกิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำหรือละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งโดยมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าพิพาทแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 โดยจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น
คดีมีปัญหาว่าหน่วยการขนส่งซึ่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2 ตู้ จะถือว่าการขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบเพียง 2 หน่วยการขนส่งตามจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า การคำนวณว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่าตามมาตรา 58 นั้น พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59 (1) บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วยการขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตาม ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในทางนำสืบของโจทก์และจำเลยตามเอกสารใบตราส่งได้ระบุจำนวนหีบห่อที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ ว่ามีจำนวน 521 หีบห่อ (PIECES OF BANDED CHRISTMAS TREES) กรณีจึงต้องถือว่าได้มีการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้ในใบตราส่งรวมเป็นจำนวน 521 หน่วยการขนส่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สินค้าพิพาทมีจำนวนหน่วยขนส่ง 2 หน่วย ตามจำนวนตู้คอนเทนเนอร์นั้นจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.