คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยหลังจากลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงปรับ 40 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ฎีกา เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ และที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งเป็นเยาวชนและแยกดำเนินคดีต่างหากแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91 288, 371 ริบอาวุธมีดดาบและท่อนไม้ยูคาลิปตัส 3 ท่อน ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางแสงจันทร์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัยเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณา นางสุบรรณ ภริยาของนายวิรัตน์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพเป็นเงิน 156,251 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 24 ปี เป็นเงิน 2,592,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,748,251 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 สำหรับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 60 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี และปรับ 40 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบอาวุธมีดดาบ และท่อนไม้ยูคาลิปตัสของกลาง กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 870,081 บาท และใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2555 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยหลังจากลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงปรับ 40 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะฎีกาในปัญหาดังกล่าวอีกหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งแก่โจทก์ร่วมและค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ร่วมจำนวน 10,000 บาท สูงเกินไปนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ฎีกา เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ และที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งสำหรับโจทก์ร่วมและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีส่วนแพ่งสำหรับโจทก์ร่วม โดยให้บังคับคดีส่วนแพ่งสำหรับโจทก์ร่วมไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share